กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนาประชาพิจารณ์ "มาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนางาน พัฒนาอาชีพ" วันอังคารที่ 2 สิงหาคม 2559 ณ ห้อง Meeting Room 3 – 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศวิธีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และร่างอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และได้รับเกียรติจาก นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "มาตรฐานฝีมือแรงงาน พัฒนางาน พัฒนาอาชีพ"
นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำมาตรฐานและวิธีทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามการจ้างงานในอุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นความร่วมมือต่อเนื่องกันมากว่า 5 ปี โดยในปี 2554 และปี 2555 กรมพัฒนาฝีมือแรงงานร่วมกับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน และวิธีการทดสอบมาตรฐานแห่งชาติ จำนวน 44 สาขา และนำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติทั้ง 44 สาขานี้ มาทดสอบจริงตามกระบวนการทดสอบและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อวัดระดับความรู้ และทักษะของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม โดยมีผู้เข้ารับการทดสอบรวมทั้งสิ้น 2,876 คน มีผู้ผ่านการทดสอบรวม 2,359 คน และในปีเดียวกันนี้ กระทรวงแรงงานได้นำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จำนวน 16 สาขา มาดำเนินการจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 4 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 5) ออกมาแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป และขณะนี้ยังมีอีก 12 สาขาที่กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการจัดทำอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ
และในปี 2557 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมมือกันอีกครั้ง เพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานงานแห่งชาติ เพิ่มอีก 44 สาขา ใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม และปี 2558 ได้นำมาตรฐานฝีมือแรงงาน มาจัดทำเป็นวิธีทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ รวมไปถึงกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้ารับการทดสอบ และกำหนดอัตราค่าทดสอบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่เหมาะสมกับศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 กลุ่มอุตสาหกรรม ยังคงเหลืออีก 7 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้นำเสนอร่างวิธีทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และอัตราค่าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นทั้งจากภาคประกอบการ ภาครัฐ ภาคการศึกษา สมาคม องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้
"จากการดำเนินงานและความสำเร็จดังกล่าว สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้หารือถึงแผนงานและแนวทางในอนาคต ในการนำมาตรฐานฝีมือแรงานไปใช้ในการฝึกอบรม ทดสอบและรับรองฝีมือแรงงาน ทั้งแรงงานเข้าใหม่ และแรงงานในสถานประกอบการ ใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเส้นทางอาชีพ ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจ้างงานตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน และส่งเสริมสนับสนุนให้สถานประกอบการเอกชนที่มีความพร้อมได้ขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานต่อไป" นายถาวร กล่าว
ด้าน นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งเน้นให้แรงงานไทยทุกคนต้องมีงานทำ อีกเรื่องที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมีงานทำคือ แรงงานไทยต้องมีมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งมาตรฐานฝีมือแรงงานจะมาช่วยยกระดับความสามารถในการทำงานของแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจในเวทีโลกได้อย่างไรนั้น เราต้องอาศัยแนวทางในดำเนินการดังนี้
1. เร่งสร้างระบบประเมินและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ที่สามารถเชื่อมโยงทั้งระบบการศึกษา ระบบการบริหารค่าจ้าง ค่าตอบแทน และระบบการประเมินและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นระบบเดียวของประเทศ เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานให้ได้มาตรฐานฝีมือแรงงานระดับชาติและก้าวเข้าสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานระดับสากลอย่างทั่วถึง รองรับการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
2. ส่งเสริมการพัฒนากำลังแรงงานระดับกลางเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ควบคู่กับการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับการประกอบอาชีพที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
3. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงานระดับกึ่งฝีมือและฝีมือให้มีความรู้ ทักษะความสามารถ ในการปฏิบัติงานได้มากกว่า 1 ทักษะงาน (Multi skills) ให้ขนานไปกับระบบการศึกษา โดยร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาและภาคเอกชนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ เพื่อเพิ่มสัดส่วนกำลังแรงงานระดับกลางที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงานให้สูงขึ้น
4. ส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ครอบคลุมแรงงานทุกระดับ และการบริหารค่าจ้าง ค่าตอบแทนตามระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ตลอดจนการใช้แรงงานฝีมือที่ผ่านการรับรองในสาขาที่อาจก่อให้เกิดอันตราย โดยอาศัยกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นกลไก
อีกประเด็นสำคัญ คือ การที่แรงงานไทยเป็นแรงงานที่มีฝีมือ ได้มาตรฐาน จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศไทยก้าวข้ามการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ได้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันรัฐบาลพยายามจะสร้างอุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัย โรงงานแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งแรงงานที่จะมาทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ จะต้องมีทักษะฝีมือที่ได้มาตรฐาน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อการปฏิบัติงานแล้วยังส่งผลเพื่อให้ได้รับค่าแรงที่สูงขึ้นอีกด้วย และจากการที่รัฐบาล พยายามสร้างอุตสาหกรรมที่มีการใช้เครื่องมือเครื่องจักร ที่ทันสมัย โรงงานแบบใหม่ขึ้นมา ทำให้ต้องเร่งพัฒนากำลังแรงงาน เพื่อช่วยยกระดับกำลังแรงงานของประเทศให้เป็นแรงงานฝีมือตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในระดับสากล
"เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงได้จัดทำแผนพัฒนาแรงงานไทย ให้เป็นแรงงานที่มีมาตรฐานฝีมือ อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบกิจการ เพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานและยกระดับรายได้ของกำลังแรงงาน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน กับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้องค์กรมีขีดความสามารถสูงในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงได้จัดให้มี Excellent Center ขึ้น เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนาทักษะแรงงาน ดังนี้
· สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน
· สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (Institute of Human Resiurces Development for Wellness Industry)
· ศูนย์ฝึกอบรมงานเชื่อมมาตรฐานสากล (Training Center for International Welding TCIW)
· ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยีชั้นสูง (Advanced Technology Training Center
· สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (Automotive Human Resource Development Academy-AHRDA)
ซึ่งต่างประเทศมีความเชื่อมั่น และชื่นชมในฝีมือของแรงงานไทยอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันทำงานเก่งอย่างเดียวไม่พอแรงงานต้องมีความสามารถในเรื่องภาษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นเพิ่มเติมด้วย
"ความเป็นมืออาชีพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กำกับได้ด้วยมาตรฐานฝีมือแรงงาน เท่านั้น" นายกรีฑา กล่าว