กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ร่วมกับ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ และลงนามสัญญางานวิจัย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 โดย เอสซีจี เคมิคอลส์ ทุ่มเงินกว่า 20 ล้านบาท เพื่อให้ซินโครตรอน นำไปพัฒนาและเพิ่มศักยภาพอุปกรณ์ตรวจวัดชนิดพิเศษ ซึ่งใช้ในงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านพอลิเมอร์ด้วยแสงซินโครตรอน โดยจะช่วยขับเคลื่อนการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมระดับสากล ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ประเทศ
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศ โท ดร.สราวุฒิ สุจิตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า "จากประสบการณ์ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของแสงซินโครตรอนมานานกว่า 12 ปี ของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งให้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน)" ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปี 2551 และเปิดบริการแสงซินโครตรอนแก่นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษาจาสถาบันการศึกษาต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ตลอดจนขยายการให้บริการไปยังนักวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยคุณสมบัติพิเศษของแสงซินโครตรอน ที่มีความสว่างจ้ากว่าแสงในเวลากลางวันกว่าล้านเท่า อำนาจทะลุทะลวงสูง ทำให้สามารถศึกษาตัวอย่างต่างๆ ได้ลึกถึงในระดับอะตอม อีกทั้งยังไม่ทำลายตัวอย่าง จึงนำไปใช้ในงานวิจัยได้หลากหลายด้าน
ช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้ขยายฐานการให้บริการไปที่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ เริ่มเข้ามาใช้แสงซินโครตรอนเพื่อสร้างนวัตกรรมขั้นสูง ตั้งแต่ปี 2554 และมีโครงการวิจัยอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและสัญญางานวิจัย ด้วยงบประมาณกว่า 20 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้กับอุปกรณ์ตรวจวัดชนิดพิเศษเพื่อศึกษาการจัดเรียงโครงสร้างผลึกของพอลิเมอร์ในระดับนาโนเมตร สำหรับสร้างนวัตกรรมให้ได้ตรงตามความต้องการ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่มีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่บริษัทฯ และวงการวิจัยพอลิเมอร์ไทยเพื่อก้าวไปสู่การสร้างนวัตกรรมพอลิเมอร์ที่พร้อมแข่งขันในระดับสากลอย่างยั่งยืน"
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า "การร่วมลงทุนกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการวิจัยพอลิเมอร์ของเอสซีจี เคมิคอลส์ เพราะอุปกรณ์ตรวจวัดชนิดพิเศษนี้สามารถวิเคราะห์พอลิเมอร์ได้ลึกถึงระดับโครงสร้าง ทำให้เราสามารถพัฒนาพอลิเมอร์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะตามที่ลูกค้าต้องการได้ ทั้งนี้หนึ่งในแผนงานของการลงทุนร่วมในครั้งนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์จะก่อตั้งสำนักงานที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน เพื่อให้นักวิจัยของเราเข้าถึงอุปกรณ์ตรวจวัดชนิดพิเศษและได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เป็นการช่วยเสริมศักยภาพให้เราสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาดได้มากขึ้น รวมถึงช่วยต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับพันธมิตรทางด้านการวิจัยของเราทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย"