กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--
จากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรประชาชน และองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร ขอประกาศยอมรับ แต่อย่างไรก็ดี การลงประชามติที่สังคมยัง "ไม่ตกผลึกทางความคิดมากพอ" อันเนื่องมาจากการจำกัดพื้นที่การถกเถียง การผลิตซ้ำ ตอกย้ำความขัดแย้ง การทุจริตคอร์รัปชั่นในอดีต ทำให้เกิดการตัดสินใจบนฐาน "ความหวาดกลัวอดีตที่หลอกหลอน" มากกว่าการคำนึงถึงการสร้าง/กำหนดกติกาที่เสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม และเป็นประชาธิปไตยสากล
เครือข่ายองค์กรประชาชนและองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร จึงขอเรียกร้อง ดังนี้
(1) ต้องไม่นำเหตุผลร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรอง มาสร้างความชอบธรรมฝ่ายเดียวในการดำเนินนโยบายทางการเมือง โครงการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชน ปิดกั้น และ/หรือคุกคามผู้เห็นต่าง และเรียกร้องให้เปิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้โดยปราศจากความหวาดกลัว และ/หรือวิตกกังวลกับการคุกคาม และยอมรับว่า "ผู้เห็นต่างก็ปรารถนาร่วมสร้างอนาคตการเมืองและประชาธิปไตย" เช่นกัน
(2) กติกาใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาธิปไตยไทยตกอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า "ประชาธิปไตยใต้บงการ" ทำให้เกิดแรงเสียดทาน และสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ารอบใหม่ เครือข่ายฯ ขอยืนยันว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เคารพสิทธิและเสรีภาพ
(3) ผลสืบเนื่องจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ส่งผลต่อการแย่งชิงทรัพยากรอย่างขนานใหญ่และรุนแรง ผ่านนโยบาย โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และแรงขับเคลื่อนของรัฐและทุน ดังนั้นการดำเนินการใดๆต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด
(4) เครือข่ายฯ ยืนยันข้อเสนอที่ขอให้ คสช.ประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ หลังการเลือกตั้ง
เครือข่ายองค์กรประชาชน และองค์กรชุมชนภาคใต้ 30 องค์กร ขอยืนยันและสานต่อข้อเรียกร้อง ด้วยการเร่งขยายเครือข่ายประชาชน ชุมชน เพื่อร่วมกันติดตาม รณรงค์ และจะจับตา ติดตามร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ การปฏิรูป และ พ.ร.บ.ที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. เช่น พ.ร.บ.แร่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม อย่างใกล้ชิด