กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--
รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เปิดตัว 2 พรีเซ็นเตอร์คู่ขวัญของงาน "อาเล็ก" ธีรเดช เมธาวรายุทธ และ "พรีม" รณิดา เตชสิทธิ์ พร้อมตรวจเยี่ยมชมการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ก่อนเริ่มงานจริงอย่างเป็นทางการ 19 สิงหาคม นี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดต่อไป พร้อมนำคณะผู้บริหาร คณะผู้จัดงาน และ 2 พรีเซ็นเตอร์ชื่อดังร่วมพิธีวางพานพุ่มเทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เนื่องในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ พร้อมชมนิทรรศการ Highlight ภายในงาน รอบพิเศษ เฉพาะสื่อมวลชนอีกด้วย
ด้าน 2 พรีเซ็นเตอร์ของงาน "อาเล็ก" ธีรเดช และ "พรีม" รณิดา กล่าวว่า "ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกของพวกตนที่ได้รับเกียรติให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมีความตื่นเต้นยินดีอย่างมาก และยอมรับว่าไม่เคยชมงานวิทยาศาสตร์ที่มีหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศพร้อมใจกันจัดงานวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดระดับประเทศและระดับทวีปเอเชียเช่นนี้มาก่อน ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจและอยากขอบคุณแทนเยาวชนและประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมหน่วยงานร่วมจัด 9 กระทรวง รวมทั้ง หน่วยงานองค์กรภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 100 องค์กร ช่วยกันจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นี้ขึ้นมา เพื่อเยาวชนและคนไทยทุกคนได้เปิดโลกทัศน์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างเพลิดเพลินสนุกสนาน และช่วยให้การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไม่น่าเบื่อ อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดต่อไป"
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึง การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในครั้งนี้ว่า งาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559" เป็นกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี ของประเทศและภูมิภาคเอเชีย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-28 สิงหาคม 2559 นี้ ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้แนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" อีกทั้ง เพื่อร่วมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์ในโอกาสที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ตั้งให้ปี 2559 เป็น "ปีสากลแห่งถั่วพัลส์" หรือ "2016 International year of PULSES" โดยในปีนี้เน้นการจัดแสดงผลงานความก้าวหน้าและศักยภาพทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำสมัย พร้อมด้วยศักยภาพของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ของไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ รูปแบบของการจัดกิจกรรมในงานคล้ายกับเทศกาลวิทยาศาสตร์ (Science Festival) ในหลายประเทศ คือ ประกอบด้วยการจัดนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบนำสมัยที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม (Interactive Exhibition) โดยเน้นหัวข้อที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย New S-curve มุ่งสู่ Thailand 4.0 รวมทั้งได้มีการนำแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องสะเต็มศึกษา (STEM Education) มาใช้ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น-เรียน-รู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ภายใต้กรอบแนวคิด "จุดประกายความคิด พัฒนาชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างชาติด้วยเทคโนโลยี สู่วิถีแห่งนวัตกรรม"
ที่สำคัญในปีนี้ได้มีการผนึกกำลังร่วมกันกับ 9 กระทรวง 18 สถาบันการศึกษา รวมมากกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน และยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศเข้าร่วมงานอีก 8 ประเทศ มากกว่า 10 หน่วยงานเข้าร่วมจัดกิจกรรมแสดงความก้าวหน้าและเทคโนโลยี อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมัน เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และจีน เพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และประชาชนทั่วไป
ดร.พิเชฐ ยังกล่าวอีกว่า "ส่วนของการจัดนิทรรศการหลักในงานได้มีการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engine) ของประเทศให้มีการเจริญเติบโตก้าวไกลด้วยการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve อาทิ นิทรรศการยานยนต์แห่งอนาคตและการขนส่ง นิทรรศการนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นิทรรศการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการแพทย์และสุขภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่ให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นในสังคม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาทิ นิทรรศการวิกฤติภูมิอากาศวิกฤติชีวิต นิทรรศการอนาคตเทคโนโลยีชีวภาพโลก นิทรรศการ Miracle of Science : มหัศจรรย์แห่งไข่จุดกำเนิดชีวิต...จุดกำเนิดเรา นิทรรศการอยู่กับยุง รวมทั้ง กิจกรรมสำหรับเยาวชนและอื่นๆ อีกมากมาย
ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเสริมถึงความยิ่งใหญ่ของงานว่าในปีนี้มีหลากหลายโซน มากมายกิจกรรมและองค์ความรู้ให้ทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม ตั้งแต่นิทรรศการเทิดพระเกียรติ นิทรรศการและกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นิทรรศการเมืองแห่งถั่ว เพื่อฉลองปีสากลแห่งถั่วพัลส์ (UNESCO International Year of Pulses) แนวคิดตามนโยบาย Food Innopolis การประกวดและแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ การประชุมสัมมนา และการแสดงสินค้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมการนำเอาเทคโนโลยีและมัลติมีเดียใหม่ๆ มาใช้ในการจัดแสดง เพื่อสร้างประสบการณ์ เปิดมุมมองการเรียนรู้ผ่านสื่อInteractive กับ นิทรรศการรูปแบบ 4D Simulator ช่วยสร้างความสุข สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการผนวกรวมงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยประจำปี 2559 หรือ Techno Mart 2016 เข้าไว้ด้วยกันอีกด้วย เน้นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประชารัฐ ภายใต้โครงการยกระดับโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI For OTOP Upgrade) เพื่อจัดแสดงเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย รวมทั้ง นำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะช่วยสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน รวมทั้งภาคเอกชนและประชาชนมาจัดแสดงในครั้งนี้อีกด้วย ซึ่งเป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในเชิงพาณิชย์ ช่วยเพิ่มผลผลิตในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมทั้งในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับประเทศ
สำหรับงานในวันที่ 18 สิงหาคม 2559 ได้มีการเดินชมไฮไลท์ของงานรอบสื่อมวลชน ได้พบกับนิทรรศการนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่าง 3D Printer หรือ เทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ ที่เปลี่ยนโลกของเราไปโดยสิ้นเชิง แถมยังประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายไปได้อีกมาก เพียงแค่สั่งงานผ่าน Computer เราก็จะได้สิ่งของที่ต้องการด้วยเวลาอันสั้นและยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อการค้าและธุรกิจได้อีกด้วย ซึ่งมันน่าตื่นเต้นมากเพราะเมื่อก่อนของสิ่งนี้เป็นเพียงจินตนาการที่อยู่ในหนัง Sci–Fi และการ์ตูนโดราเอมอนเท่านั้น จนมีกลุ่มนักประดิษฐ์นำมาต่อยอดแล้วเป็นเครื่องพิมพ์สามมิติที่ใช้ได้จริง และยังถือว่าเป็นเทคโนโลยีการผลิตสื่อดิจิตอลรูปแบบใหม่อีกด้วย และกำลังแพร่หลายไปยังวงการอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอวกาศและการบิน เป็นต้น หรือแม้แต่ Stereoscopic 3D ที่วงการภาพยนตร์นำมาใช้เรียกกันทั่วไปว่า หนัง 3 มิติ ที่ทำให้เรารู้สึกเสมือนวัตถุในฉากกำลังลอยออกมาใส่เราได้ ซึ่งสามารถชมได้ในนิทรรศการจากนักประดิษฐ์สู่นวัตกรรม หรือ Enjoy Makerspace Pavilion นอกจากนี้ ภายในงานผมยังตื่นเต้นสนุกสนานไปกับประสบการณ์4D Simulator ในโรงภาพยนตร์ 4D "The Last Day" ที่อยู่ในโซนนิทรรศการวิกฤตภูมิอากาศวิกฤตชีวิต(Climate Change & Biodiversity Pavilion) ที่ทุกคน พลาดชมกันไม่ได้เลย ซึ่งมีการจัดแสดงในรูปแบบ 4D Effectสมจริง ที่ทุกคนรอคอย ตื่นเต้นไปกับเทคนิคต่างๆ กับจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ท่ามกลางอุบัติภัยทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะพาพวกเราทุกคนย้อนเวลากลับไปตั้งแต่จุดกำเนิดโลก และเรียนรู้เรื่องราวช่วงเวลาสำคัญที่ผ่านมาของโลกจนถึงยุคปัจจุบันที่มนุษย์อาจต้องสูญสิ้นทุกอย่าง
ถือเป็นศูนย์รวมแห่งองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีเช่นนี้ ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์มุมมองใหม่ในโลกของวิทยาศาสตร์ ได้ทราบถึงผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ ความก้าวหน้าทันสมัยด้านวิทยาศาสตร์โดยคนไทยเอง ทำให้ยิ่งตอกย้ำว่าคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และที่ประทับใจอย่างยิ่งคือ ภายในงานมีนวัตกรรมลดโลกร้อน ที่เราอาจไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน อย่างเช่น Inno-Gen KMITL V1 และ V2 รถไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ รถโฟม บรรจุภัณฑ์อาหารจากใบไม้สด ที่ใช้ทดแทนกล่องโฟม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดสารก่อมะเร็ง Solar X นวัตกรรมกระจกประหยัดพลังงาน เฝือกอ่อนย่อยสลายได้ และสีเกล็ดมุก ศิลปะลดโลกร้อน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถไปชมกันได้ในโซนนิทรรศการวิกฤตภูมิอากาศวิกฤตชีวิต (Climate Change & Biodiversity Pavilion) เช่นกัน และอยากชวนทุกคนให้มาชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ นี้กันให้ได้ เพราะปีนี้จัดเต็มยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา
ภายหลังการตรวจเยี่ยมชมงาน ดร.พิเชฐ กล่าวอย่างมั่นใจว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และทุกหน่วยงานที่ร่วมจัด กิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีนี้ เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่ด้านสถานที่ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ระบบการจราจรภายใน การรักษาความปลอดภัย การปฐมพยาบาล การดูแลต้อนรับ ร้านค้า ร้านอาหาร และการจัดลำดับการเข้าชมงาน พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการดูแลนักเรียน เยาวชน และผู้เข้าเยี่ยมชมงานที่มาเป็นหมู่คณะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าชมตลอดระยะเวลาของการจัดงานอีกด้วย พร้อมกล่าวทิ้งท้ายเชิญชวนเยาวชนและประชาชนเข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี2559 ตั้งแต่วันที่ 18-28 สิงหาคม 2559 เวลา 09.00-19.00 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่โทร 02-577-9960 เวลาที่เหมาะสำหรับการเข้าชมสำหรับประชาชนทั่วไป วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.00-20.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-20.00 น.