กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2559 ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ประจำปี 2559 ในวันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม 2559 ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประมาณ 600 คน ว่า ในช่วงบ่ายเป็นการเสวนาในหัวข้อ "อนาคตการคลังไทยกับบริบทใหม่ที่เปลี่ยนแปลง" โดยได้รับเกียรติจาก ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าร่วมการเสวนา โดยมีนางสาวอรกันยา เตชะไพบูลย์ เศรษฐกรชำนาญการ เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปได้ ดังนี้
ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วเป็นความท้าทายสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ หากบริษัทไม่สามารถเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ และไม่สามารถก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็จะไม่สามารถแข่งขันร่วมกับบริษัทอื่นได้ โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น หุ่นยนต์ ยังอาจส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน เนื่องจากสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจในอนาคตต้องประกอบด้วยการมีจินตนาการและมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ Block Chain ซึ่งเป็นการทำธุรกิจแบบเครือข่ายที่สามารถช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ โดยต้องคำนึงถึงการพัฒนามนุษย์ให้มีการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กันด้วย อีกทั้งได้กล่าวเพิ่มเติมว่าธุรกิจจะต้องสามารถคาดการณ์ความต้องการของตลาดมากกว่าการผลิตสินค้าที่ตนเองคุ้นเคย นอกจากนี้ ยังได้กล่าวเสริมว่า การออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องอยู่บนพื้นฐานหลักคิด 4T ได้แก่ เป้าหมายที่ชัดเจน (Targeted) เป็นมาตรการชั่วคราว (Temporary) โปร่งใส (Transparent) และเหมาะกับเวลา (Timely)
นายปรีดี ดาวฉาย กล่าวว่า ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของโลกที่สำคัญต่อระบบธนาคารพาณิชย์ ประกอบด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูงส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีต้นทุนเพิ่มในการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว และการรวมกลุ่ม TPP จะส่งผลให้การแข่งขันทางธุรกิจจะมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามผลกระทบของการรวมกลุ่ม TPP อย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ต้องเผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มข้นขึ้นผ่าน Basel III ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก โดยต้องเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่เน้นการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ดังนั้น นโยบาย Electronic Payment ของภาครัฐจึงสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถมีต้นทุนที่ถูกลงและสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในที่สุด
ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจ อเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น มีการฟื้นตัวช้า เช่น สำหรับอเมริกา ใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เศรษฐกิจอเมริกาโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1 นอกจากนี้ ยังมีดัชนีชีวัดเศรษฐกิจโลกใน 4 ด้าน คือ (1) อัตราเงินเฟ้อต่ำ (2) ดัชนีตลาดหุ้นที่สำคัญของโลกมีแนวโน้มที่ไม่เติบโตมากเหมือนช่วงที่ผ่านมา (3) รายได้มัธยฐาน (Median) ของคนอเมริกันไม่เพิ่มขึ้น (4) นโยบายด้านการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยติดลบขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากส่งผลให้คนออมมากขึ้น บริษัทเก็บเงินสดไว้ใช้จ่าย โดยไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม อีกทั้งได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้รายได้ของชนชั้นกลางของจีนดีขึ้น และทำให้รายได้ของชนชั้นกลางของอเมริกาลดลง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านการค้าเสรี (Protectionism) และทำให้แนวนโยบายของพรรคเดโมแครตและพรรคริพับลิกันในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ไปในทางต่อต้านการค้าเสรีทั้งสิ้น
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้า นำไปสู่การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ โดย สศค. มีความพยายามในการเพิ่มรายได้ของภาครัฐ คือการปรับฐานภาษีจากฐานรายได้เป็นฐานทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีมรดก นอกจากนี้ ยังได้กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการคลังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ โดยเชื่อมโยงกับตลาดเงินมากขึ้น ซึ่งภาครัฐต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบของธุรกรรมใหม่ ๆ ต่อภาคการคลัง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันพิจารณาเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว อีกทั้งได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยเป็นนโยบายที่สำคัญของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเพิ่มทุนให้กองทุนหมู่บ้าน โครงการบ้านประชารัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เป็นต้น ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายข้างต้นต้องคำนึงถึงความมีวินัยทางการเงินการคลัง คุณธรรมและความโปร่งใสเป็นสำคัญ
กล่าวโดยสรุป หากพิจารณาในภาพรวม จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะเผชิญ ความท้าทายจากสถานการณ์ภายนอก แต่ในวิกฤติยังมีโอกาส โดยในส่วนของภาคการคลังและระบบเศรษฐกิจโดยรวมยังมีสถานะที่ดี อย่างไรก็ดี ประเทศไทยควรมีการเตรียมความพร้อมสำหรับ New Normal โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมของคน เพื่อรองรับต่อ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และควรมีการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมและธรรมภิบาลด้วย