กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--IRPLUS
JMART Group ผนึกกำลังบริษัทในเครือ JMT- J -SINGER กำหนดกลยุทธ์ปีนี้ "The Power of Synergy" มั่นใจผลประกอบการของกลุ่มในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ครองผู้นำค้าปลีกที่มีช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุดในประเทศ ส่วนผลงานครึ่งปีแรกออกมาดีเป็นที่น่าพอใจ
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART กล่าวถึง แผนการดำเนินงานในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2560 – 2562) ว่า ทางกลุ่ม JMART ได้กำหนดกลยุทธ์ "The Power of Synergy Chapter 1" ซึ่งจะเป็นการผนึกกำลังทางธุรกิจครั้งใหญ่ของกลุ่มธุรกิจ ที่นำโดยบริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART, บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT, บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ซึ่งทั้ง 4 บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมด้วยบริษัท เจ เอ็ม ที พลัส จำกัด เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างบริษัทฯ ในกลุ่ม (Synergy) และเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต โดยทิศทางการเติบโตจะเริ่มตั้งแต่ในครึ่งปีหลัง 2559 และตั้งเป้ายอดขายของกลุ่มบริษัทเจมาร์ทในปีนี้ทั้งปีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างน้อย 30% ตามการเติบโตของบริษัทในเครือ
"แนวโน้มผลประกอบการของกลุ่ม JMART ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ การขยายสาขาไปยังช่องทางใหม่ๆ และที่สำคัญการกำหนดกลยุทธ์ครั้งใหญ่ของบริษัทฯ ผนึกกำลังร่วมกันของบริษัทย่อยทั้ง JMT , J และ SINGER จะสามารถร่วมสร้างโอกาสทางธุรกิจได้อีกมากมาย จึงมั่นใจ Business Model ที่วางไว้มีความแข็งแกร่งและคาดว่าจะสนับสนุนผลงานทั้งปีนี้ให้เติบโตตาม เป้าหมายที่วางไว้ได้ รวมถึงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่บริษัทฯ สามารถผลักดันยอดขาย และกำไร ให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และเป็นกลุ่มบริษัทค้าปลีกที่มีช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มาก ที่สุดในประเทศ" นายอดิศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯได้ตั้งงบการลงทุนในปีนี้จำนวน 350 ล้านบาท สำหรับการขยายสาขาทั้งในส่วนของธุรกิจมือถือและ กล้องถ่ายรูป ขณะที่งบลงทุนรวมบริษัทฯ ตั้งเป้าไว้ที่ 3,900 ล้านบาท โดยเป็นของ JMT 3,000 ล้านบาท สำหรับการซื้อหนี้ และการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล และ J 600 ล้านบาท จากปีที่แล้วบริษัทฯ ใช้งบลงทุนรวม 4,000 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยงวดไตรมาส 2/2559 มีกำไรสุทธิ 102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 2,364.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 285.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% กำไรต่อหุ้น 0.19 บาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรต่อหุ้น 0.10 บาท ส่วนผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2559 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและบริการอยู่ที่ 4,853.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีรายได้จากการขายและ 4,208.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 191.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรต่อหุ้น 0.36 บาท เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนมีกำไรต่อหุ้น 0.24 บาท โดยรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัทและ กลุ่มบริษัทในการร่วมกันผลึกกำลัง
นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า ในปีนี้ภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้จะมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายรายได้เติบโต 15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 719.14 ล้านบาท และตั้งเป้าซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารในปีนี้เพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท สนับสนุนให้สิ้นปี 2559 บริษัทฯ จะมีพอร์ตบริหารหนี้แตะ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทฯ ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารแล้ว 9.4 หมื่นล้านบาท มั่นใจครึ่งปีหลังเดินหน้าซื้อหนี้ได้ตามแผนที่วางไว้ ขณะที่ธุรกิจปล่อยสินเชื่อภายใต้บริษัท JMT PLUS มีแนวโน้มการเติบโตสูง แม้ในปัจจุบันจะเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจ แต่บริษัทฯ ก็สามารถบริหารจัดการ พร้อมทั้งผลักดันการเติบโตให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ นอกจากนี้ จากความร่วมมือของกลุ่ม JMART Group เป็นอีกช่องทางสนับสนุนในการขยายธุรกิจสิน เชื่อไปยังกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ยิ่งขึ้น
"บริษัทฯ คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเดินหน้าซื้อหนี้เสียเข้ามาบริหารได้ตามเป้าแน่ นอน และจะทำให้สิ้นปี 59 บริษัทฯ มีพอร์ตบริหารหนี้ 1.2 แสนล้านบาทตามแผนที่วางไว้ มั่นใจไตรมาส 3 ปีนี้ เติบโตต่อเนื่อง ทั้งนี้บริษัทมีแผนลงทุนซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน 1 พันล้านบาท ในปีนี้ และ JMT Plus ตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1 พันล้านบาท และคาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดราย ได้ (NPL) อยู่ที่ระดับไม่เกิน 3% เนื่องจาก JMT Plus มีการปรับโครงการสินเชื่อเป็นแบบ Revolving Loan ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกชำระหนี้เป็นแบบขั้นต่ำได้ ทั้งนี้ ปัจจุบัน JMT Plus อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท เนื่องจาก เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติต่อผู้ถือหุ้นในเดือนตุลาคม นี้" นายปิยะ กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อย งวดไตรมาส 2/2559 มีกำไรสุทธิ 35.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.6% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัทฯ มีรายได้จากการเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ที่รับ ซื้อมากขึ้น โดยมีรายได้รวม 247 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 83.3 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 51% เนื่องจากรายได้จากการบริการติดตามหนี้สิน และมีรายได้จากการเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ที่รับซื้อเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 19.9 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 64.2% เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มมากขึ้นจาก การขยายธุรกิจให้สินเชื่อ และการตั้งสำรองของลูกหนี้สินเชื่อ และมีรายได้รวม 473.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 330.8 ล้านบาท
ด้านนายสุพจน์ วรรณา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 59 เติบโตราว 30% จากปีก่อนที่มีรายได้ราว 506 ล้านบาท จากการเติบโตของสาขาเดิม และแผนขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้า IT Junction จะขยาย 8 สาขาต่อปี และคาดสิ้นปีนี้จะมีสาขารวมกันทั้งสิ้น 52 สาขา จากครึ่งปีแรกมี 47 สาขาเรียบร้อยแล้ว และศูนย์การค้าชุมชน (The Jas) ตั้งเป้าขยาย 1 สาขาต่อปี และสิ้นปีนี้จะมีจำนวนทั้งสิ้น 3 โครงการ โดยแบ่งเป็น The Jas วังหิน ซึ่งมีอัตราการเช่าแล้วราว 85%, The Jas รามอินทรา มีอัตราการเช่าแล้วราว 88% และเตรียมเปิด โครงการ แจส เออเบิร์น ศรีนครินทร์ ที่คาดจะเปิดโครงการได้วันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 นี้ ซึ่งปัจจุบันได้เปิดพรีเซล และสามารถเปิดขายพื้นที่ไปได้มากกว่า 95% เรียบร้อยแล้ว โดยมีร้านค้ารายใหญ่ที่ร่วมโครงการฯ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, สตาร์บัคส์, คาซะ, เจมาร์ท เป็นต้น ขณะที่ตลาดชุมชน (J Market) สิ้นปีนี้จะมี 4 แห่ง สนับสนุนผลประกอบการทั้งปีให้เติบโตตามเป้าหมายได้สำเร็จ และครองความเป็นหนึ่งในผู้นำการบริหารพื้นที่ เช่า รายใหญ่ของประเทศ
"ผลการดำเนินงานของบริษัฯ ในงวดไตรมาส 2/2559 มีกำไรสุทธิ 6.9 ล้านบาท ลดลง 12.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 18 ล้านบาท ลดลง 36.8% จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุที่บริษัทฯ มีกำไรสุทธิลดลง เนื่องจากต้นทุนค่าเช่าและบริการที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ คาดว่า หลังจากโครงการแจส เออเบิร์น ศรีนครินทร์เสร็จสิ้น จะเป็นปัจจัยสนับสนุนผลประกอบการบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างโดดเด่นได้" นายสุพจน์ กล่าว
ด้านนางนงลักษณ์ ลักษณะโภคิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER กล่าวว่า ผลประกอบการของ SINGER คาดว่าจะดีขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ครึ่งปีหลัง นี้เป็นต้นไป จากการปรับโมเดลธุรกิจ โดยยังคงเน้นในธุรกิจเช่าซื้อกับลูกค้าในประเทศไทยที่อาศัยในต่างจังหวัด ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจนี้มานานกว่า 100 ปีแล้ว ขณะที่นโยบายของภาครัฐบาล โครงการช่วยเหลือประชาชนเศรษฐกิจฐานรากจากภาครัฐ "โครงการประชารัฐ" ที่เริ่มเดินหน้าเข้าหมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบทตั้งแต่ไตรมาส 2/2559 เป็นต้นมา เป็นอีกโอกาสสำคัญให้ SINGER รุกตลาดสินค้าเชิงพาณิชย์ เช่นตู้น้ำมันหยอดเหรียญที่มีคุณภาพ และได้รับมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงาน และหน่วยงานรัฐ นำไปจำหน่ายให้แก่ประชาชนตามหมู่บ้านโครงการต่าง ๆ ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญในการขยายธุรกิจผ่านบริษัทในเครือทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด , บริษัท เอสจี เซอร์วิสพลัส จำกัด และ บริษัท เอสจี โบรคเกอร์ จำกัด ทั้งการเสนอบริการขายสินค้าเช่าซื้อสำหรับสินค้ามัลติแบรนด์ ผ่านช่องทางดีลเลอร์ที่บริษัทฯ มีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งมุ่งขยายรายได้จากการให้บริการซ่อม บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าของ ลูกค้ากลุ่มต่างๆ เพื่อรุกตลาดการให้บริการเพิ่มมากขึ้น และในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทฯ ยื่นเรื่องขอใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัย ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการ ประกอบ ธุรกิจประกันภัย และได้รับใบอนุญาตดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรุกธุรกิจดังกล่าวในปีนี้ เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างรายได้ให้ SINGER แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม SINGER ยังมุ่งเน้นการควบคุมต้นทุนและการบริหารจัดการภายในอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากบริษัทในเครือ เจมาร์ท กรุ๊ป ในการใช้ระบบและทรัพยากรบุคคลร่วมกัน สนับสนุนให้มีการลดต้นทุนได้บางส่วน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้บริษัทฯ รุกตลาดค้าปลีกโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เรามีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย
"ในช่วงที่ผ่านมา SINGER ได้ปรับปรุงระบบภายในครั้งใหญ่ เพื่อให้ทีมขายทำงานคล่องตัว รวดเร็ว และตรวจสอบได้ อีกทั้ง บริษัทฯ จะอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบ Direct Payment System ในการเก็บหนี้แทน จากเดิมที่ใช้พนักงานขายเป็นผู้เก็บเงิน โดยปรับเปลี่ยนเป็นให้ลูกค้าสามารถไปจ่ายเงินค่างวดตามคอนวีเนี่ยนสโตร์ เช่น 7-11, ธนาคารพาณิชย์ หรือช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนด ซึ่งโดยรวมจะทำให้บริษัทฯ มีจุดรับชำระค่างวดเพิ่มขึ้นกว่า 18,000 จุดทั่วประเทศ และลูกค้าสามารถชำระเงินค่าสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วยลดต้นทุนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และในช่วงต่อจากนี้ SINGER ก็มีแผนที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างร่วมกันกับกลุ่ม เจมาร์ท กรุ๊ป เพิ่มเติมอีก เพื่อการเติบโตยั่งยืนเคียงคู่กันไป" นางนงลักษณ์ กล่าว
สำหรับผลประกอบการของบริษัทฯในงวดไตรมาส 2/2559 มีกำไรสุทธิเท่ากับ 28.2 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 55.5 ล้านบาท หรือลดลง 49.1 % สาเหตุหลักจากการลดราคาสินค้ากลุ่มทีวีแข่งกับตลาด การเร่งระบายสินค้าที่ขายยาก ยอดขายรวมลดเหตุเศรษฐกิจชะลอตัว ในส่วนของรายได้ทั้งหมดของบริษัทฯ ลดลง 26.0% อันเป็นผลเนื่องมาจากยอดขายและและดอกเบี้ยรับ จากการผ่อนชำระของบัญชีเช่า ซื้อลดลง 33.2% และ 12.4% ตามลำดับ ในขณะที่รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจาก ค่าตอบแทนจากการเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายระบบมือถือ (แอร์ไทม์) ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าหลักลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เว้นเพียงแต่กลุ่มสินค้าใหม่ อันได้แก่ สมาร์ทโฟนและพัดลมไอเย็น ที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลกระทบมาจากสภาวะทางเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว อุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวช้า กำลังการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยในภาคเอกชนลดลง ภาคการส่งออกซบเซา ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบบริหารระบบการจัดเก็บเงินค่าผ่อนชำระสินค้าจาก ลูกค้า ที่จากเดิมผู้แทนขายจะเข้าไปเก็บเงินและบริการลูกค้าโดยตรงถึงที่บ้านลูกค้า เปลี่ยนมาเป็นการให้ลูกค้ามาผ่อนชำระสินค้าโดย ตรง เข้าบัญชีบริษัทฯ ผ่านช่องทางอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ ธนาคาร, เคาน์เตอร์เซอร์วิส และการชำระออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งก็จะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น จากการเปลี่ยนระบบการเก็บเงินดังกล่าวจะทำให้พนักงานขายมีเวลาในการขาย สินค้าเพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทฯ มีแผนการนำสินค้าที่หลายหลายมาให้บริการแก่ผู้บริโภค บริษัทมีความมั่นใจในศักยภาพการขาย และเชื่อว่าพนักงานขายของซิงเกอร์ขายอะไรก็ขายได้