กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
เป็นระยะเวลากว่า 7 เดือนแล้วที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งโอกาสอย่างหนึ่งของการเปิดประชาคมอาเซียนก็คือทำให้ผู้ที่มีอาชีพบางสาขา ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิก บัญชี การบริการ/การท่องเที่ยว และการสำรวจ สามารถย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าใช่ว่าใครที่มีอาชีพดังกล่าวจะย้ายได้ตามต้องการ เพราะปัจจัยเอื้อไม่ได้มีเพียงความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพเท่านั้น แต่คนๆ นั้นยังต้องมีทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย
ซึ่งความสำคัญของภาษาอังกฤษนี่เองที่ทำให้หลักสูตรอินเตอร์ในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้รับความนิยมและเป็นที่หมายปองของนักเรียนมากขึ้นทุกปี จากที่เมื่อก่อนเคยคิดว่าการสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์สามารถทำได้ง่ายๆ แต่จากนี้ไปจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เนื่องจากการแข่งขันสูงขึ้น
การเตรียมสอบเข้าเรียนต่อในหลักสูตรอินเตอร์มีความแตกต่างจากหลักสูตรภาษาไทย ซึ่งนักเรียนหลายคนอาจยังไม่ทราบ ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ อินเตอร์ จึงได้จัดกิจกรรม Inter Insight Forum ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนรู้ลึก รู้จริงเรื่องการสอบหลักสูตรอินเตอร์ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงสนามสอบ โดยภายในงานนี้จัดให้มีการแนะแนวโอกาสที่ดีของการเรียนอินเตอร์ พร้อมแนะนำการเตรียมตัวเพื่อเข้าหลักสูตรอินเตอร์ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์โดยติวเตอร์จากออนดีมานด์ อินเตอร์ รวมทั้งอาจารย์จากจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังมีรุ่นพี่มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การเรียน นอกจากนี้ยังมีแขกรับเชิญ พี ฮอร์โมน และ อิมเมจ สุธิตา จากเวที เดอะวอยซ์ มาร่วมพูดคุยถึงเหตุผลที่เลือกเรียนหลักสูตรอินเตอร์และการเตรียมตัวสอบ รวมทั้งยังมีบูธให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนในคณะอินเตอร์ยอดนิยม
ในงานนี้ นายภัทร์ ลิ้มปวงทิพย์ อาจารย์จากโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ อินเตอร์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งหันมาเปิดสอนหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้น และยังมีคณะให้เลือกมากขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสของนักเรียนที่จะเลือกเรียนได้หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันคณะอินเตอร์ยอดนิยมที่นักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นวิชาของสายวิทย์ คณะที่ได้รับความนิยม คือ วิศวกรรมศาสตร์และแพทยศาสตร์ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นสายศิลป์ คณะยอดนิยม ได้แก่ บริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ ,ออกแบบและศิลปกรรมศาสตร์ ,ศิลปศาสตร์, นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
นายภัทร์ บอกว่า หากต้องการสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์ในกลุ่มวิชาของ สายวิทย์ นอกจากจะต้องเตรียมตัวในส่วนของ SAT หรือ CU-AAT แล้วจะต้องสอบ SAT Subject Test (Math Level II, Physics, Chemistry และ Biology) เพิ่มด้วย นอกจากนี้ การพิจารณาคะแนนของแต่ละคณะก็จะแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะแบ่งสัดส่วนคะแนนในการสอบเข้าเป็นคณิตศาสตร์ 30% อังกฤษ 20% ส่วนฟิสิกส์ เคมี และชีวะ เลือกสอบเพียง 2 วิชา รวมคะแนน 40% และ GPAX 10%
นอกจากการสอบ SAT Subject Test แล้ว ปัจจุบันสายวิทย์ยังมีการสอบที่เรียกว่า BMAT (BioMedical Admissions Test) ซึ่งเป็นการสอบแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรภาษาไทย แต่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอบ โดยจะมีการสอบทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ ข้อสอบมีทั้งปรนัยและอัตนัย จัดสอบเพียงปีละ 1 ครั้ง ซึ่งแนวข้อสอบก็จะแตกต่างไปจาก SAT Subject Test หากใครสนใจจะต้องศึกษาแนวข้อสอบและลองทำข้อสอบให้คุ้นเคย
สำหรับการสอบของ สายศิลป์ จะสอบเพียง 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ เรียกว่าการสอบ SAT (Scholastic Assessment Tests) โดยข้อสอบทั้ง 2 วิชาจะคิดคะแนนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับคณะที่เลือกเรียน เช่น คณะเศรษฐศาสตร์หลักสูตรอินเตอร์ ใช้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ 40% อังกฤษ 35% และ GPAX 25% แต่มีบางกลุ่มวิชาที่ต้องสอบวิชาที่ 3 เพิ่ม เพื่อวัดความถนัดเฉพาะด้าน อาทิ กลุ่มวิชาออกแบบและศิลปกรรมศาสตร์
"ในการสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์ น้องๆ จะสนใจเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้ เพราะวิชาอื่น ก็สำคัญเช่นกัน จะเห็นได้ว่าหลายคณะกำหนดให้สัดส่วนคะแนนของวิชาอื่น เช่น คณิตศาสตร์ มากกว่าภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนี้น้องต้องรู้ว่าคณะที่สนใจต้องสอบวิชาอะไรบ้าง และให้น้ำหนักกับวิชาใดมากวิชาใดน้อย หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือ โดยควรอ่านเนื้อหาทั้งหมดให้จบตั้งแต่ ม.4 พอเข้าสู่ ม.5 ต้องฝึกทำโจทย์หลายๆ ครั้ง พร้อมจับเวลา และหากใครพร้อมก็เริ่มสอบ SAT ได้เลย เนื่องจากคะแนน SAT สามารถเก็บไว้ได้ถึง 2 ปี พอขึ้น ม.6 ต้องพยายามสอบให้ได้มากที่สุด เพื่อมีโอกาสที่นำจุดอ่อนมาพัฒนาและทำคะแนนให้ดีขึ้นได้" นายภัทร์ เอ่ย
ทางด้าน นางสาวอรอินทุ์ อุณหเทพารักษ์ (ริน) อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งตั้งใจมาร่วมงานเพื่อนำเคล็ดลับที่ออนดีมาน์ อินเตอร์ แนะนำไปปรับใช้ในการสอบ เล่าว่า เมื่อรู้ว่าตนเองอยากเรียนคณะบริหารธุรกิจอินเตอร์ก็เริ่มศึกษาหาข้อมูล โดยเริ่มจากการเตรียมตัวด้วยตนเองและเรียนพิเศษบ้าง ตอนแรกที่ทำข้อสอบ SAT รู้สึกว่ายากมาก คะแนนที่ได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร จนได้มีโอกาสมาเรียนกับพี่ภัทร์ รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมกับออนดีมานด์ อินเตอร์ หลายครั้ง ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ดีๆ การสอบครั้งล่าสุดจึงสามารถสอบ SAT Math ได้คะแนนเต็ม 800 คะแนน และได้คะแนนรวม 1,400 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1,600 คะแนน
"การมาร่วมงานของออนดีมานด์ อินเตอร์ในครั้งนี้ ก็ทำให้เข้าใจและเตรียมตัวได้อย่างมั่นใจมากขึ้น ซึ่งเคล็ดลับในการสอบ SAT ที่ทำให้ได้คะแนนดี คือ ทำแบบที่อาจารย์ภัทร์แนะนำ ลองสอบหลายๆ ครั้ง เพื่อให้มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับข้อสอบ และเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง สำหรับเพื่อนๆ ที่เพิ่งเริ่มสอบ หลายคนอาจรู้สึกท้อเพราะเป็นข้อสอบที่ไม่เคยเจอ แต่ขอให้ขยัน ฝึกฝน และสอบบ่อยๆ จะรู้สึกว่าคุ้นเคยและทำข้อสอบได้คะแนนดีขึ้น" นางสาวอรอินทุ์ กล่าว
ส่วนดาราวัยรุ่นชื่อดัง นายสาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร หรือพี ฮอร์โมน นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขานิเทศศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) เผยว่า ตอนสอบเข้าคณะนี้จะมีการสอบเพิ่มเติมจากการสอบ SAT นั่นคือการสอบ CU-TAD เป็นการทดสอบทักษะด้านการออกแบบของจุฬาฯ คณะนี้เรียนเกี่ยวกับการออกแบบเพื่อการสื่อสาร ซึ่งหากน้องคนไหนสนใจเข้าเรียนในคณะนี้นอกจากจะต้องมีคะแนนสอบที่ดีแล้ว ขอแนะนำให้น้องๆ ทำเรซูเม่หรือประวัติส่วนตัวให้สวยงามน่าสนใจ และมีเอกลักษณ์ เพราะมีส่วนในพิจารณาคัดเลือกด้วย
ด้านสาวน้อยเสียงมหัศจรรย์ นางสาวสุธิตา ชนะชัยสุวรรณ หรืออิมเมจ เดอะวอยซ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) เอ่ยถึงเหตุผลในการเข้าเรียนในคณะนี้ว่า ตอนอยู่ ม.6 ยังไม่แน่ใจว่าอยากเรียนอะไร แต่รู้ว่าชอบภาษาอังกฤษและจำได้ว่าตอนเรียนวิชาสังคม มีครั้งหนึ่งที่ได้เรียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคุณครูให้ลองเล่นโปรแกรมจำลองการเล่นหุ้น ทำให้รู้สึกสนุกและอยากเรียนคณะนี้ ตอนเข้ามาเรียนช่วงแรกๆ ต้องปรับตัวพอสมควร เพราะบรรยากาศในห้องเรียนเป็นแบบต่างชาติ ทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษหมด แต่พอปรับตัวได้แล้วก็รู้สึกสนุกและมีความสุขมาก เพราะฉะนั้นหากน้องๆ อยากเรียนหลักสูตรอินเตอร์ก็ควรค้นหาว่าตนเองชอบอะไร อยากเรียนอะไร อยากทำอาชีพอะไร และศึกษาว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไรถึงจะสอบเข้าได้
ส่งท้ายกับแนวคิดที่ว่า ไม่ว่าจะสอบคณะอะไร คนที่รู้ลึกรู้จริงและเตรียมตัวมาดี ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการสอบมากกว่า เพราะฉะนั้น ลองถามตัวเองว่าวันนี้น้องเตรียมตัวดีหรือยัง ถ้าได้คำตอบว่ายัง ลงมือทำตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สาย