ปตท.-บางจาก-ไทยออยล์ ประสานประโยชน์สร้างรายได้ 500-600 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday November 14, 2001 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--ปตท.
โดยบางจากใช้คลังน้ำมันศรีราชา ปตท. แทนเช่าเรือจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันนำน้ำมันเตาให้ไทยออยล์กลั่นเป็นน้ำมันใส เป็นการลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้เพิ่มโดยใช้ทรัพย์สินภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้บริษัทน้ำมันของคนไทยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง (นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา) ทั้ง 3 หน่วยงาน คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทยออยล์ จำกัด จึงได้ผนึกกำลังร่วมกันศึกษาแนวทางที่จะลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ในการจัดหา การผลิต และการจัดจำหน่าย จึงได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ 2 ฉบับ ขึ้นในบ่ายวันนี้ (13 พ.ย.44) โดยมีนายอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท. นายณรงค์ บุณยสงวน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากฯ และนายจุลจิตต์ บุณยเกตุ กรรมการอำนวยการ บริษัทไทยออยล์ฯ ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ
บันทึกความเข้าใจฉบับแรกเป็นความร่วมมือทางด้าน Technical Synergy ระหว่าง บริษัทบางจากฯ และบริษัทไทยออยล์ฯ ฉบับที่สองเป็นบันทึกความเข้าใจการใช้บริการคลังน้ำมันศรีราชาเก็บน้ำมันดิบ ระหว่าง บมจ.ปตท.และ บริษัทบางจาก
ในบันทึกฯ ฉบับแรก บริษัทบางจากฯ ได้ตกลงร่วมกับ ไทยออยล์ฯ ในการนำน้ำมันเตาที่โรงกลั่นบางจากผลิตได้จำนวนประมาณ 8,000-20,000 บาร์เรล/วัน นำไป Crack เป็นน้ำมันใสที่โรงกลั่นไทยออยล์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้หน่วยกลั่นของไทยออยล์ที่มีกำลังการผลิตเหลือให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผลการศึกษาในกรณีที่นำน้ำมันเตาไป Crack ที่โรงกลั่นไทยออยล์ สามารถสร้างรายได้ให้กับทั้งสององค์กรเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 300-400 ล้านบาทสำหรับบันทึกฯ ฉบับที่สองเป็นบันทึกความเข้าใจการใช้บริการคลังน้ำมันศรีราชาเก็บน้ำมันดิบ โดยบริษัทบางจากฯ จะนำน้ำมันดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศจำนวนประมาณ 40,000-50,000 บาร์เรล/วัน (หรือประมาณ 190-240 ล้านลิตร/เดือน) มาเก็บที่คลังน้ำมันศรีราชาของ ปตท. ทดแทนการเช่าคลังน้ำมันดิบลอยน้ำของต่างประเทศที่บริษัทบางจากฯ ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศปีละกว่า 200 ล้านบาท อีกทั้งเป็นการใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่ภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันทั้งสองฉบับนี้ นับเป็นการร่วมมือและประสานประโยชน์เกื้อกูลร่วมกันให้แก่ทั้ง 3 หน่วยงาน ให้สามารถพัฒนาการดำเนินธุรกิจร่วมกันต่อไปในอนาคต อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศชาติได้เป็นอย่างดี--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ