กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--The Fifth ThursdaY Creation
คณะวิทยาศาสตร์ สจล. ยึดแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพฯ รุกโครงการเพื่อสังคม ปลูกฝังการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงต้นน้ำถึงปลายน้ำ หวังสร้างบุคลากรคุณภาพทางวิทยาศาสตร์พัฒนาชาติ นำร่องโครงการโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จ.อุทัยธานี สานต่อสถานีทดลองทางวิทยาศาสตร์ (MiniPhanomenta) มุ่งจุดประกายแรงบันดาลใจเด็กไทยเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หนุนผลงานวิจัยโซลาร์เซลล์พัฒนาชุมชนยั่งยืน
ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ส่งเสริมให้เยาวชนไทยสนใจการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ทรงริเริ่มโครงการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์มากมาย เพื่อจุดประกายเด็กไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ทุกระดับการศึกษาต่อเนื่อง หนึ่งในนั้น คือ โครงการโรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จ.อุทัยธานี ภายใต้ความร่วมมือคณะวิทยาศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), สสวท., สวทช. และนานมีบุ๊ค ร่วมสนองแนวพระราชดำริ
รศ.ดร.ดุษณี ธนะบริพัฒน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สอดคล้องกับหนึ่งในปณิธานของคณะฯ คือ ประยุกต์ความรู้ในสาขาต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตในสังคมและการพึ่งพาตนเองของประเทศ ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์ควบคู่คุณธรรม ซึ่งการสร้างบัณฑิตที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ย่อมต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก
"โรงเรียนต้นแบบการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม จ.อุทัยธานี" จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะสร้างศูนย์กลางการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ด้วยการสนับสนุนร.ร.อุทัยวิทยาคมให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการช่วยเหลือสถานศึกษาอื่นๆ ต่อไป จากการนำ STEM Education (สะเต็มศึกษา) มาเป็นแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีในสภาพแวดล้อมจริง รวมถึงจุดประกายการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยโครงการสถานีทดลองวิทยาศาสตร์ MiniPhanomenta
"STEM Education เป็นแนวทางการศึกษาแบบใหม่ที่บูรณาการความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ รวมเข้าด้วยกัน ทุกวันนี้เด็กไทยเรียนวิทยาศาสตร์จะเกิดคำถามเรียนสูตรเหล่านี้ไปเพื่ออะไร แนวทางของSTEM จะเชื่อมโยงความรู้ที่เด็กๆ เรียนไปสู่การใช้ประโยชน์ในชีวิตจริง เป็นการดึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนเข้ามาในโรงเรียนให้มากขึ้น" คณบดีกล่าวถึงการทำงานของโครงการนี้
โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อต.ค.2558 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ร.ร.อุทัยวิทยาคม จ.อุทัยธานี เป็นต้นแบบการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาการสอนแนว STEM Education โดยได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ ติดตั้งสถานีทดลอง MiniPhanomenta สำหรับนักเรียนประถมศึกษา, จัดอบรมครูเกี่ยวกับ STEM, สร้างนวัตกรรมแนว STEM จากการอบรมครูและนักเรียนร่วมกันทำกิจกรรมที่ใช้งานได้จริงและเชื่อมโยงเนื้อหาการเรียนการสอนที่สูงกว่าหลักสูตร รวมถึงจัดโครงการส่งเสริมให้ร.ร.อุทัยวิทยาคมเป็นเครือข่ายท้องถิ่นของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ตลอดจนจัดค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม
สังเกตได้ว่า MiniPhanomenta เข้ามาบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเรียนรู้เชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งMiniPhanomenta เป็นอีกโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิ PHAENOMENTA เยอรมนี, มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, นานมีบุ๊คส์, สสวท. และคณะวิทย์ฯ สจล.
ดร.วรการ นียากร รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า MiniPhanomenta เป็นโครงการที่มีจุดเริ่มต้นจากศูนย์วิทยาศาสตร์ของประเทศเยอรมัน ชื่อ Phanomenta ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสนใจและเข้าใจหลักการวิทยาศาสตร์ ซึ่งในทางปฏิบัติเด็กไม่มีโอกาสเรียนรู้จากศูนย์วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง MiniPhanomenta จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเติมเต็มช่องว่างตรงนี้ จากการนำสถานีทดลองวิทยาศาสตร์ไปตั้งในโรงเรียนเพื่อให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้จากสถานีทดลองต่างๆ โดย MiniPhanomenta ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินอร์ดเมทัลล์ (NORDMETALL) ก่อตั้งโดยสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กของเยอรมัน และขยายผลไปกว่า1,200โรงเรียนในหลายประเทศ
จุดเด่นของ MiniPhanomenta อยู่ที่เด็กๆ จะได้ทดลองเล่นสถานีทดลองที่ผู้ปกครองร่วมกันสร้างขึ้น โดยไม่มีป้ายติดว่าแต่ละสถานีทดลองคืออะไร และไม่ให้อาจารย์อธิบายวิธีการทดลองหรือเฉลยผลการทดลอง เพื่อให้เด็กฝึกกระบวนการคิดและตั้งคำถามด้วยตัวเอง เป็นการกระบวนที่เรียกว่า "Assimilation and Accommodation learning process" อันเป็นแนวคิดของ ดร.ลุซ ฟีซเซอร์ (Lutz Fiesser) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเฟลนส์บูร์ก เยอรมัน ออกแบบไว้
"ชุดทดลองนี้จะจุดประกายแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เด็กสนใจในปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เขาสังเกตได้จากชุดทดลอง การที่ไม่มีคำอธิบายตั้งแต่แรกจะ ช่วยให้เด็กไม่ปิดกั้นจินตนาการ สามารถคิด วิเคราะห์และหาคำตอบมาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆได้ด้วยตนเอง และจะพบว่าทุกโจทย์ปัญหาไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว โดยเราเปิด MiniPhanomenta Thailand: Workshop and Learning Center แห่งแรกในประเทศไทย ที่คณะวิทยาศาสตร์ ของเราด้วย เพื่อใช้เป็นเวิร์คช็อปแอนด์เลิร์นนิ่งเซ็นเตอร์ให้กับครูและผู้ปกครอง ที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ เพราะครู ผู้ปกครองและนักเรียน ต้องนำโครงการนี้ไปสานต่อให้สำเร็จ และเด็กจะเกิดความภูมิใจว่าสถานีทดลองนี้คุณพ่อคุณแม่ของเขาเป็นผู้สร้างให้"
ทั้งนี้นำร่องโครงการนี้ในปีการศึกษา 2558 กับ 7 โรงเรียน ได้แก่ ร.ร.เพลินพัฒนา, ร.ร.อัสสัมชัญสมุทรปราการ,ร.ร.เซนต์โยเซฟทิพวัล, ร.ร.อนุบาลเมืองอุทัยธานี, ร.ร.อนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์, ร.ร.รุ่งอรุณ และร.ร.จิตรลดา ในอนาคตมีแผนขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
"ทุกวันนี้บริษัทต่างๆ ต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการขับเคลื่อน การได้มาซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ ย่อมต้องอาศัยคน เราจึงต้องเพิ่มแนวทางการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้กับเด็กๆ ตั้งแต่รากฐาน ในหลายโครงการของคณะวิทยาศาสตร์ เน้นตั้งแต่ระดับอนุบาลและต่อยอดไปถึงมัธยมและอุดมศึกษา เพื่อให้ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพและมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเรากระตุ้นให้พวกเขารู้จักคิดเป็นตั้งแต่เด็ก ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของเด็กไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ" ดร.วรการ กล่าว
ด้วยแนวทางนี้คณะวิทยาศาสตร์ สจล.จึงยังมีโครงการเพื่อสังคมอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น "บัณฑิตคืนถิ่น" ของมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โครงการมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาจากถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้บัณฑิตเหล่านนี้กลับไปสร้างความเจริญให้กับชุมชน, "มหาวิทยาลัยเด็ก"โครงการมุ่งเน้นให้เด็กและเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมการทดลองและเรียนรู้กิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่หลากหลาย เป็นการขยายผลต่อจากโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย
ไม่เพียงโครงการเพื่อสังคมเท่านั้น คณะวิทยาศาสตร์ สจล. ยังสนับสนุนผลวิจัยที่มีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชนอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น โครงการระบบไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชนบท (ต่อเนื่อง 5 ปี)โครงการซีเอสอาร์ที่ต่อยอดมาจากผลงานวิจัยของ รศ. วิชิต ศิริโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. ร่วมกับทีมอาจารย์และนักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทย์ฯ สจล. โดยการสนับสนุนแบตเตอรี่จีเอส จัดขึ้นเพื่อพัฒนา ต.บ้านดง อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าแสงอาทิตย์ จนสามารถติดตั้งระบบ ดูแล แก้ปัญหา และบำรุงรักษาระบบได้ด้วยตัวเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเริ่มโครงการมาตั้งแต่พ ค.2555
"หมู่บ้านในต่างจังหวัดมีแผงโซลาร์เซลล์ตามโครงการของภาครัฐอยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไประบบเหล่านั้นชำรุด ไม่เกิดการใช้ประโยชน์ เราจึงลงพื้นที่เข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าให้ใหม่และจัดอบรมความรู้ ปีต่อมาชาวบ้านสามารถนำระบบโซลาร์เซลล์มาประยุกต์ใช้กับเครื่องปั๊มน้ำ ปัจจุบันชุมชนสามรถรับผิดชอบโครงการทั้งหมดได้เอง มีช่างประจำหมู่บ้าน และมีการปรับปรุงโมเดลระบบไฟฟ้านำไปพัฒนาพื้นที่ของเขาได้เอง นอกจากช่วยลดต้นทุนระบบไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการปลูกฝังให้ชุมชนสร้างประโยชน์คืนสังคมอีกด้วย" ดร.กาจปัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ผู้นำทีมลงพื้นที่พัฒนาชุมชนกล่าวทิ้งท้าย
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการเพื่อสังคม ภายใต้การดูแลของคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง สามารถชมโครงการอื่นๆ และผลงานวิจัยทั้งหมดได้ในนิทรรศการ "วิทยาศาสตร์ก้าวไกลด้วยสะเต็ม" ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระหว่าง 14-17 สิงหาคม 2559 นี้ ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง