กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พัฒนาระบบการให้บริการจัดสอบนายหน้าประกันภัยโดยระบบคอมพิวเตอร์ในส่วนกลางและภูมิภาคขึ้นอีก 2 แห่ง คือ สนามสอบมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ซึ่งเปิดสอบเพิ่มจากสนามสอบที่สำนักงานมีอยู่เดิม โดยจัดสอบเดือนละหนึ่งครั้ง จำนวน 320 ที่นั่ง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 และสำนักงาน คปภ.ภาค 11 (สุราษฎร์ธานี) เปิดสอบทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ วันละ 20 ที่นั่ง โดยเปิดรับสมัครผ่าน website ของสำนักงาน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป เพื่อรองรับปริมาณการสอบที่เพิ่มมากขึ้น และกำกับดูแลพฤติกรรมทางการตลาดของคนกลางประกันภัย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ใดจะกระทำการเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน กล่าวคือจะผ่านการสอบความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยและผ่านการอบรมหลักสูตรที่สำนักงาน คปภ. กำหนด โดยในครึ่งแรกของปี 2559 มีจำนวนผู้สมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันภัยทั้งสิ้น จำนวน 174,096 ราย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้สมัครสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 117,326 ราย ตัวแทนประกันวินาศภัย จำนวน 4,762 ราย นายหน้าประกันชีวิต จำนวน 20,146 ราย และนายหน้าประกันวินาศภัย จำนวน 31,862 ราย สำหรับผู้ประสงค์จะสอบนายหน้าประกันภัยผ่านระบบคอมพิวเตอร์สามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนสมัครสอบผ่านเว็บไซด์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หมวดบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรอกรายละเอียดให้ครบด้วย และสั่งพิมพ์ใบนำส่งเพื่อนำไปชำระค่าสมัครสอบที่เคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ทุกสาขา ทั้งนี้ ในวันที่สอบจะต้องนำหลักฐานการชำระเงินและบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงเป็นหลักฐานด้วย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า สำนักงาน คปภ. ได้เปิดให้บริการการสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 2551 เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และมีความโปร่งใสในการดำเนินการสอบ ตลอดจนเพิ่มมาตรการในการป้องกันทุจริตการสอบ อีกทั้งยังเป็นระบบที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เนื่องจากระบบคอมพิวเตอร์จะใช้กระบวนการสุ่มข้อสอบเพื่อจัดชุดข้อสอบให้กับผู้เข้าสอบแต่ละคน ทำให้ชุดข้อสอบของผู้เข้าสอบแต่ละคนไม่ซ้ำกัน และยังรวมไปถึงกระบวนการส่งข้อสอบไปยังห้องสอบไปยังสถานที่สอบต่างๆ ที่สามารถส่งการสุ่มข้อสอบผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไปให้ก่อนเวลาสอบเพียงไม่กี่ชั่วโมง และผู้สอบสามารถทราบผลสอบได้ทันทีที่ส่งข้อสอบ
"การพัฒนาคุณภาพด้านการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของสำนักงาน คปภ. ซึ่งได้มีการศึกษาและพัฒนาระบบการให้บริการด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงระยะเวลาและขั้นตอนการบริการให้มีประสิทธิภาพรวดเร็ว และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้นต่อไป" ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้ายไว้ในทีสุด