กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--hfocus
"คนพิการ" โอดประกันสังคมให้สิทธิด้อยกว่าบัตรทอง ระบุ โรงพยาบาลไม่พร้อม-ยาไม่พอ ต้องควักกระเป๋าซื้อเอง เสนอคลอดสิทธิประโยชน์ขั้นต่ำ
นายวันเสาร์ ไชยกุล ผู้จัดการศูนย์ญาณากร แหล่งเรียนรู้คนพิการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการย้ายสิทธิประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ตนเองเป็นคนพิการและต้องเข้ารับการรักษาตัวในคลินิกศัลยกรรมทางเดินกระเพาะปัสสาวะอย่างต่อเนื่อง โดยคลินิกดังกล่าวไม่ได้มีอยู่ทุกโรงพยาบาล และยาก็มักมีเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น
นายวันเสาร์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่นอกจากจะรักษาฟรีแล้วยังเปิดโอกาสให้ผู้พิการสามารถเลือกโรงพยาบาลได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็รักษาตัวกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาตลอด อย่างไรก็ตามปัญหาเกิดขึ้นหลังจากที่ตนตัดสินใจเข้าทำงาน เพราะต้องถูกโอนย้ายสิทธิประกันสุขภาพจากบัตรทองเข้าสู่ระบบประกันสังคม
"ต้องเข้าใจก่อนว่าคลินิกศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะไม่ได้มีทุกแห่ง และบางโรงพยาบาลก็ไม่มียา เมื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคมจึงมีปัญหามาก เพราะต้องเริ่มต้นรักษาใหม่ และโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ประกันตนไว้นั้นก็ไม่มีความพร้อม" นายวันเสาร์ กล่าว
นายวันเสาร์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นแก้ปัญหาด้วยการกลับไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และยินยอมจ่ายค่ารักษาเอง โดยต้องเสียเงินซื้อยาเดือนละ 1 กล่อง ราคากล่องละ 850 บาท ฉะนั้นเวลาไปพบแพทย์แต่ละครั้งจึงต้องสต็อกยาไว้ 3-6 เดือน มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าครั้งละ 5,000 บาท ยังไม่นับต้นทุนทางสังคมอื่นๆ
"โรงพยาบาลจุฬาฯ ก็แนะนำว่าให้เรากลับไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดประกันสังคม แล้วให้โรงพยาบาลนั้นส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ จะทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งในความจริงเป็นเรื่องที่ยากลำบากและเสียเวลามาก" นายวันเสาร์ กล่าว
นายวันเสาร์ กล่าวอีกว่า เครือข่ายคนพิการได้หารือถึงปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องว่าจะทำอย่างไรให้สิทธิของบัตรทองและประกันสังคมมีความเท่าเทียมกัน หรือหากเป็นไปได้ก็ควรเป็นกองทุนเดียวกัน ที่สำคัญคือต้องออกแบบให้ไม่เกิดการปฏิเสธสิทธิใดสิทธิหนึ่ง
"ไม่ใช่ว่าเมื่อมีงานก็ถูกปฏิเสธสิทธิบัตรทอง มันไม่ควรเกิดการปฏิเสธสิทธิใดสิทธิหนึ่ง และจริงๆ แล้วสิทธิประโยชน์ที่บัตรทองให้นั้นควรเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานหรือขั้นต่ำ ที่สิทธิอื่นๆ หรือกองทุนอื่นๆ ไม่ควรให้ต่ำกว่านี้" นายวันเสาร์ กล่าว