กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 4.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 4.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)เพิ่มขึ้น 4.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 5.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 5.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 56.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียและนาย Alexander Novakรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานรัสเซียแสดงท่าทีสนับสนุนการประชุมนอกรอบเพื่อเพิ่มเสถียรภาพราคาน้ำมันระหว่างผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและนอก OPEC ก่อนร่วมงาน International Energy Forum (IEF) ที่แอลจีเรีย ช่วงวันที่ 26-28 ก.ย. 59 กระแสข่าวการประชุมข้างต้นผลักดันราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
· Energy Information Administration (EIA) คาดปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. 59ลดลงจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 มาอยู่ที่ 4.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน เม.ย. 57
(ปกติปริมาณการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 521.1 ล้านบาร์เรล
· สำนักสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของจีนในเดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี เพราะแหล่งผลิตน้ำมันที่ดำเนินการมานานให้ผลผลิตน้อยลง
· Commodity Futures Trading Commission (CFTC) ของสหรัฐฯ รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขาย ล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน และ NYMEX ที่นิวยอร์ก สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 ส.ค. 59 กลุ่มผู้จัดการกองทุนเพิ่มสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 54,297 สัญญา มาอยู่ที่ 152,271 สัญญา
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Baker Hughes รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10 Rig มาอยู่ที่ 406 Rig เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8
· นาย Ali Kardor ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC ) กล่าวว่าปัจจุบันอิหร่านผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 3.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปริมาณการผลิตก่อนถูกคว่ำบาตรที่ระดับ 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ ส่งออก 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ) และ นาย Bijan Zanganeh รัฐมนตรีน้ำมันอิหร่านแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอิหร่านว่า NIOC จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบสู่ระดับ 4.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายใน 5 ปีข้างหน้า
· นาย Asim Jihad โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิรักกล่าวว่า อิรักกลับมาส่งออกน้ำมันดิบปริมาณ 70,000บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งทางตอนเหนือของประเทศผ่านท่อขนส่งน้ำมันดิบ Kirkuk-Ceyhan (ปริมาณสูบถ่าย300,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ควบคุมโดยรัฐบาลท้องถิ่น Kurdistan Regional Government หรือ KRG ก่อนหน้านี้การขนส่งทางท่อดังกล่าวยุติลงในเดือน มี.ค. 59 จากข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกลางอิรักกับกลุ่ม KRG
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ค่อนข้างทรงตัวโดยน้ำมันดิบ ICE Brent ทรงตัวขณะที่น้ำมันดิบ NYMEX WTI เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยตลาดน้ำมันดิบมีปัจจัยสนับสนุนเป็นประเด็นการหารือเรื่องการคงกำลังการผลิต (Production Freeze) ระหว่างกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC นอกรอบก่อนการประชุม International Energy Forum (IEF) ที่ประเทศแอลจีเรีย อย่างไรก็ตามอิรัก ผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ของกลุ่ม OPEC มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตหลังบรรลุข้อตกลงกับกลุ่ม KRG ซึ่งจะสวนทางกับการหารือดังกล่าว นอกจากนี้ปัญหาอุปทานชะงักงัน (Supply Disruption) หลายแห่งเริ่มบรรเทา ล่าสุดบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียสามารถนำเรือบรรทุกน้ำมันดิบเข้าเทียบท่า Zueitina (ปริมาณส่งออก 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ได้สำเร็จ หลังจากประสบปัญหาในช่วงต้นเดือนเนื่องจากถูกกลุ่มติดอาวุธขู่โจมตี นอกจากนี้กลุ่มติดอาวุธ Niger Delta Avengers (NDA) ในไนจีเรียประกาศพร้อมจะยุติการกระทำรุนแรงและพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาล ขณะที่ในไตรมาสที่ 3/59 นี้เป็นช่วงปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น และปัญหาอุทกภัยในสหรัฐฯอาจกดดันอุปสงค์น้ำมันดิบในระยะสั้น อย่างไรก็ดีการลดอัตราการเดินเครื่องของโรงกลั่นในสหรัฐฯ อาจทำให้มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจากเอเชียไปภูมิภาคตะวันตกได้ทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคา ICE Brent อยู่ที่ 48.5-52.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคา NYMEX WTIอยู่ที่ 45.5-49.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคา Dubai 44-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นจากโรงกลั่นบริเวณชายฝั่งของสหรัฐฯ (USGC) ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของปีในรัฐหลุยส์เซียนา โดยกำลังการกลั่นกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีปัญหาขัดข้องทางเทคนิค ส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบ Louisiana Light Sweet (LLS) และสนับสนุนส่วนต่างของราคาน้ำมันสำเร็จรูป และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12ส.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.7 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 232.7 ล้านบาร์เรล ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3อย่างไรก็ตาม Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียจะกลับมาเปิดดำเนินการหน่วย RFCC เต็มกำลังในสัปดาห์นี้ (กำลังการกลั่น 40,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Cilacap (กำลังการกลั่น 348,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังปิดซ่อมแซมตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 59 และ Platts คาดโรงกลั่นของบริษัทน้ำมันในจีนจะลดกำลังการกลั่นในช่วงเดือน ส.ค. 59 มากกว่าเดือน ก.ค. 59 ที่ผ่านมา เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซิน เดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.6 % อยู่ที่ 89.6 ล้านบาร์เรล ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillatesสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ส.ค. 59 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ระดับ 15.05 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Reuters รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากสหรัฐฯ สู่ยุโรปลดลงเนื่องจากอเมริกาใต้นำเข้าน้ำมันดีเซลจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีเรือเก็บน้ำมัน (Floating Storage) ลอยลำตามชายฝั่งยุโรป ขณะที่ Arbitrage จากเอเชียและตะวันออกกลางหลั่งไหลเข้ายุโรปต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซีย (Statistics Indonesia) รายงานยอดนำเข้าน้ำมันดีเซล ในเดือน มิ.ย. 59 ลดลงจากปีก่อน 40.24% มาอยู่ที่ 2.37 ล้านบาร์เรล โดยครึ่งแรกของปีนี้อินโดนีเซียนำเข้าน้ำมันดีเซลลดลงจากปีก่อน 3.3% มาอยู่ที่ 17.06 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล EIA รายงานปริมาณสำรองDistillates เชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 153.1 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ส.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.05 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 14.64 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล