กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารกรมประมง ลงพื้นที่ท่าเรือวัดปากสมุทร ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อตรวจดูความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการเตรียมปฏิบัติการตรวจเรือประมงพาณิชย์ ขนาด 10 – 30 ตันกรอส และร่วมสังเกตการณ์เรือประมงฯ ที่เข้าท่ามาให้ตรวจก่อน พร้อมตรวจเยี่ยมการทำประมงและชาวประมงในพื้นที่
ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำชับให้กรมประมงปฏิบัติตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 อย่างเครั่งครัด เพราะเชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนดำเนินการตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 จะก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและเกิดความเข้มแข็งของภาคการประมงไทย
การจัดระเบียบเรือประมงพาณิชย์ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตาม พ.ร.ก.การประมง โดยการลงพื้นที่มาตรวจดูความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการตรวจเรือประมงพาณิชย์ในครั้งนี้ เพื่อจะได้ทราบถึงขั้นตอนกระบวนการดำเนินการต่างๆ ในการตรวจเรือประมงพาณิชย์ ตามที่กรมประมงได้มีการประกาศให้ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ ขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป นำเรือและเอกสารสำคัญมาแสดงตนกับเจ้าหน้าที่ ณ ท่าเทียบเรือที่กำหนดในแต่ละจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบความถูกต้องตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 ซึ่งจะมีขึ้นพร้อมกันทั้วประเทศ ในระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม – 15 กันยายน 2559 ซึ่งการดำเนินการตรวจเรือประมงพาณิชย์ เป็นการตรวจเฝ้าระวังให้การทำประมงพาณิชย์เป็นไปด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากการเริ่มทำประมงพาณิชย์ตาม พ.ร.ก.การประมง 2558 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมสังเกตการณ์ว่าช่วงนี้ก็มีเรือประมงขนาดตั้ง 10 – 30 ตันกรอส เข้าเที่ยบท่าให้เจ้าหน้าที่ได้มาตรวจฯ ด้วย ซึ่งก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงขอฝากถึงผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์โปรดให้ความร่วมมือนำเรือและเอกสารที่ถูกต้องมาแสดงตนตามที่กรมประมงประกาศแจ้งไป เพื่อความถูกต้องตามกฎหมายและเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำและอาชีพประมงไทย
นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สำหรับเรือประมงพาณิชย์ ที่มาแสดงตนนั้น จะต้องมีเอกสารสำคัญประกอบด้วย
1. ใบอนุญาตใช้เรือ: ที่ระบุหมายเลขทะเบียนเรือ ชื่อเรือ ชื่อสกุลเจ้าของเรือ วันหมดอายุ หมายเลขเครื่องยนต์ และยี่ห้อเครื่องยนต์ให้ชัดเจน
2.ใบ...
2. ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ต้นฉบับ ที่ได้รับจากกรมประมง ที่ระบุหมายเลขใบอนุญาต ประเภทของเครื่องมือทำการประมง ใบอนุญาตที่ติดภายในเรือประมง พร้อมบัตรอนุญาต เลขที่ QR-Code ซึ่งจะต้องตรงตามใบอนุญาตทำการประมงที่ประมงออกให้ โดย QR-Code ดังกล่าวจะต้องติดไว้กับเรือ
3. เครื่องมือประมง โดยชนิดและจำนวนเครื่องมือต้องถูกต้องตามใบอนุญาต รวมทั้งขนาดของตาอวน ขนาดความยาว ของเครื่องมือต้องเป็นไปกฎหมายด้วย
และสำหรับเรือประมงพาณิชย์ ขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไป ต้องแสดงอุปกรณ์ติดตามเรือ (VMS) ที่มีเอกสารกำกับ หมายเลข VMS ในใบอนุญาต หมายเลขเครื่องที่ใช้ในปัจจุบัน สถานะภาพการใช้งาน และแสดงLogbook/ เครื่องหมายประจำเรือ / สภาพเรือ / ระวางบรรทุกของเรือด้วย
โดย ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ ขนาด 10 - 30 ตันกรอส สามารถยื่นเอกสารขอรับการตรวจได้สำนักงานประมงจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล และสำนักงานประมงอำเภอ ส่วนเรือประมงพาณิชย์ ขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป สามารถยื่นเอกสารแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์แจ้งเข้า-ออกในจังหวัดนั้นๆ ส่วนในกรณีเรือขึ้นคานหรือไม่ได้ทำการประมง ให้นัดเจ้าหน้าที่ไปตรวจแยกจากการตรวจที่ท่าเรือ ซึ่งเรือประมงพาณิชย์ที่ผ่านการตรวจรับรองโดยกรมประมงเรียบร้อยแล้ว จะได้รับสติ๊กเกอร์รับรองไว้เป็นหลักฐาน หากผู้ประกอบการไม่นำเรือมาให้ตรวจโดยไม่มีเหตุผลออันสมควรอาจเป็นสาเหตุให้ถูกยกเลิกใบอนุญาตทำการประมงได้
ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เฉพาะกิจตรวจเรือประมงพาณิชย์ โทร. 0 2561 1418 หรือ สำนักงานประมงจังหวัดชายทะเล 22 แห่ง หรือ ศูนย์แจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) หรือ website : http ://www.fisheries.go.th/inspector
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกรมประมง ยังได้ไปพบปะเยี่ยมเยียนกับกลุ่มพี่น้องชาวประมง กลุ่มสหกรณ์การประมงบางจะเกร็ง ที่ได้ปรับเปลี่ยนอาชีพจากการทำประมงโดยใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่ได้มีการประกาศไว้ใน พ.ร.ก.การประมง 2558 นั้น เป็นอาชีพใหม่ คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือเยียวยาชาวประมง โดยปลัดฯ ได้มีการพูดคุยรับฟังปัญหาพร้อมเป็นกำลังใจให้ชาวประมงหลังการปรับเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งพวกเขาเข้าใจถึงการดำเนินการของทางภาครัฐในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อประเทศไทยจะได้มีความยั่งยืนของทรัพยากรประมงตลอดไป