กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--การยางแห่งประเทศไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมเจ้าของสวนยาง เสริมสร้างเกษตรกรยุคใหม่ ณ ห้องประชุมโรงเรียนเบ็ตตี้ ดูเมน 2 ช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางเทคโนโลยีการทำสวนยางพารา ที่มุ่งพัฒนาชุมชนแบบมี ส่วนร่วม สามารถถ่ายทอดให้คำแนะนำแก่เกษตรกรรายอื่นได้อย่างถูกต้อง
นายสุชาตรี ทองอินทราช ผู้ช่วยผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการการยางแห่ง ประเทศไทยจังหวัดอุบลราชธานี เผยว่า จังหวัดอุบลราชธานีมีเนื้อที่ปลูกยางทั้งสิ้น 529,062.07 เนื้อที่เปิดกรีด 414,373.06 ไร่ เกษตรกร 39,768 ครัวเรือน 52,813 แปลง (ข้อมูลโครงการแก้ไขปัญหาราคายางทั้งระบบปี 2557) มีกลุ่มสถาบันเกษตรกรจำนวน 197 สถาบันเกษตรกร แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ในขณะนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ผลกระทบต่างๆจะไม่รุนแรงมากนัก ถ้าหากทุกภาคส่วนของสังคมมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดีกับศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐานของการพึ่งตนเองถึงแม้ว่าข้อคิดทั้งหมดจะมุ่งเน้นไปสู่ครอบครัวเกษตรกรชาวสวนยาง โดยการส่งเสริมการรวมตัวกันของเด็กและเยาวชนที่เป็นบุตรหลานเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยความสมัครใจเพื่อให้เด็ก และเยาวชนร่วมกันเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องด้านคุณธรรม จริยธรรม การงานพื้นฐานอาชีพการทำสวนยาพารา เพื่อเตรียมพร้อมและเป็นพลังในการพัฒนาคุณภาพเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความรู้เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชี่ยน(AEC) มุ่งพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม พึ่งพาตนเองได้โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ในชีวิตประจำวัน
นายสุชาตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กยท.จ.อุบลราชธานี จัดกิจกรรมอบรมเกษตรกรชาวสวนยาง ยุคใหม่หลักสูตร "เสริมสร้างเกษตรยุคใหม่" จำนวน 20 คน โดยมีวิทยากรจาก กยท.จ.อุบลราชธานี และวิทยากรภายนอกจากสาขาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์จากยางพารา ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมให้ความรู้การฝึกอบรมโดยมีหัวข้ออบรมต่างๆดังนี้ พระราชบัญญัติการยาง แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 การจัดสวนยาง การเสริมสร้างรายได้ในสวนยางเพื่อเพิ่มรายได้ การบำรุงรักษาสวนยาง การเก็บเกี่ยวผลผลิตน้ำยาง การใช้ปุ๋ยยางพาราตามค่าวิเคราะห์ดิน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากยางพารา ซึ่งเนื้อหาในการอบรมในครั้งนี้จะช่วยให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการการสวนยางอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เสริมสร้างทัศนคติที่ดีของเกษตรกรชาวสวนยาง ยุคใหม่ ให้เห็นคุณค่าอาชีพการทำสวนยาง ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ฝึกปฏิบัติจริง และนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคต สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดสู่เกษตรกร เพื่อพัฒนาอาชีพและยกระดับ การทำสวนยางให้ได้มาตรฐาน และสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนในการดำรงชีวิต มีความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพการทำสวนยางตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี
"ในการอบรบครั้งนี้เรามุ่งหวังให้ เยาวชนที่เป็นบุตรหลานเกษตรกรชาวสวนยาง เกษตรกรชาวสวนยางยุคใหม่ เข้าใจและจัดการสวนยางตามหลักวิชาการ มีทัศนคติที่ดีเห็นคุณค่าอาชีพการทำสวนยางสามารถสร้างรายได้เตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเชี่ยน" นายสุชาตรี กล่าวทิ้งท้าย