กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน คาดสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 – 2 วัน อีกทั้งยังทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปภ.ได้ประสานแจ้งเตือน 8 จังหวัดในพื้นที่เหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เตรียมการเฝ้าระวังและรับมือภาวะน้ำในแม่น้ำโขงที่เอ่อล้นตลิ่ง กรณีระดับน้ำเพิ่มสูงจนถึงจุดวิกฤติให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ที่แม้จะอ่อนกำลัง แต่ส่งผลให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากในอำเภอแม่สา จังหวัดน่าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 320 ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงแต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 – 2 วันนี้ ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว อีกทั้งภาวะฝนตกหนักจากพายุเตี้ยนหมู่ ยังทำให้แม่น้ำโขงมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปภ.ได้ประสาน 8 จังหวัดในพื้นที่เหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แจ้งเตือนอำเภอที่อยู่ติดแม่น้ำโขงให้เตรียมการเฝ้าระวังและรับมือภาวะน้ำในแม่น้ำโขงที่เอ่อล้นตลิ่ง ได้แก่ เชียงราย (อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอเวียงแก่น ) เลย (อำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม) หนองคาย (อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอโพนพิสัย) บึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอบุ่งคล้า) นครพนม (อำเภอเมืองนครพนม อำเภอธาตุพนม อำเภอท่าอุเทน) มุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอหว้านใหญ่ อำเภอดอนตาล) อำนาจเจริญ (อำเภอชานุมาน) และอุบลราชธานี (อำเภอโพธิ์ไทร อำเภอเขมราฐ อำเภอโขงเจียม) โดยจัดวางแนวกระสอบทรายเป็นแนวคันกั้นน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นตลิ่ง จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมวัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติการช่วยเหลือและอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือภาวะน้ำล้นตลิ่ง โดยขนย้ายวัสดุสิ่งของขึ้นที่สูง อพยพสัตว์เลี้ยงและยานพาหนะไปไว้ในพื้นที่ปลอดภัย กรณีระดับน้ำเพิ่มสูงจนถึงจุดวิกฤติให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านกลไกของศูนย์ดำรงธรรมทางหมายเลขโทรศัพท์ 1667 หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 http://www.disaster.go.th/
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th