กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ บ้านไหนหนัง จ.กระบี่ ว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการออก พรก.การประมง พ.ศ. 2558 เพื่อสร้างความยั่งยืนในการทำประมงตามมาตรฐานสากล ให้มีทรัพยากรเพียงพอไปตลอดและไม่ทำลายทรัพยากรจนเกินไป โดยมีการแบ่งการประมงเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ประมงน้ำจืด ประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ ซึ่งในส่วนประมงพื้นบ้านนี้ รัฐบาลไม่ได้เข้าไปควบคุมมาก เนื่องจากขีดความสามารถของเครื่องมือประมงไม่มากนัก และชุมชนสามารถดูแลตนเองได้ ซึ่งชุมชนประมงท้องถิ่น "ต้นแบบ" บ้านไหนหนัง ได้มีการรักษาทรัพยากรได้เป็นอย่างดี โดยได้มีการกำหนดกฎระเบียบ ดูแลชุมชน ทั้งดูแลป่าชายเลน ทำบ้านปลา และไม่จับปลาแบบผิดวิธี เป็นต้น จึงน่ายกย่องให้เป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่น ๆ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงอยากจะส่งเสริมการดำเนินการของชุมชน เช่น การรวมกลุ่มชาวประมง สร้างเครือข่าย เพื่อดูแลตั้งแต่ต้นจนถึงจบกระบวนการ ทั้งการบริหารจัดการและการตลาด พร้อมกับการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรอื่น ๆ เรียนรู้และทำตาม นอกจากนี้ พื้นที่บ้านไหนหนัง ยังมีจุดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงพร้อมที่จะเข้ามาช่วยในการดำเนินการให้ประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะมีการบูรณาการการทำงาน โดยมี Single Command ช่วยขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาประมงอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามผลักดันให้ชาวประมงสามารถดูแลกันเองได้ หากชาวประมงมีความเข้าใจหลักการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืน ตกลงกันว่าจะทำประมงที่ไม่ทำลายล้างจนเกินไป ให้ทรัพยากรสามารถฟื้นตัวได้ รัฐบาลก็พร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ ตามแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้เพิ่มเติมปริมาณสัตว์น้ำ โดยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่บ้านไหนหนัง ประกอบด้วย ปล่อยหอยจุ๊บแจง 50,000 ตัว ปล่อยหอยชักตีน100,000 ตัว ปล่อยหอยแครง 6,000,000 ตัว ปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า 150,000 ตัว ปล่อยลูกพันธุ์กุ้งแชบ๊วย 1,500,000 ตัว และปล่อยลูกพันธุ์ปลากะพงขาว 30,000 ตัว
ต่อมา พลเอก ฉัตรชัย ได้เดินทางไปรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของ ส.ป.ก. 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ยะลา และสุราษฎร์ธานี และมอบนโยบายการปฏิบัติงาน ณ ศาลากลางจึงหวัดกระบี่ ซึ่งพื้นที่ในภาพรวมทั้ง 4 จังหวัด มี 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่ที่ดินยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป มีพื้นที่เป้าหมายรวม 31 แปลง พื้นที่ 33,853 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการปลูกยางพาราและปาล์ม โดยได้ทำการปิดประกาศทั้ง 31 แปลงแล้ว และกรณีที่ที่ดินที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่ ส.ป.ก. แล้ว มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป จำนวน 3 แปลง มีพื้นที่ 3,886 ไร่
ทั้งนี้ แต่ละจังหวัดได้มีการรายงานผลการดำเนินการ มีรายละเอียดคือ จังหวัดกระบี่ พื้นที่เป้าหมาย 18 แปลง เนื้อที่ 13,951.05 ไร่ มีผู้ยื่นคัดค้าน 127 ราย (เนื้อที่ 2,909 ไร่) เหลือจากยื่นคัดค้าน 5,390 ไร่ ไม่ยื่นคัดค้านเลย 8 แปลง (เนื้อที่ 5,651 ไร่) ดังนั้นเนื้อที่ที่ต้องดำเนินการปักป้ายยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. 11,041 ไร่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่เป้าหมาย 8 แปลง เนื้อที่ 9,839 ไร่ มีผู้ยื่นคัดค้าน 63 ราย (เนื้อที่ 1,558 ไร่) ไม่ยื่นคัดค้านเลย 5 แปลง (เนื้อที่ 7,272 ไร่) ดังนั้นเนื้อที่ที่ต้องดำเนินการปักป้ายยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก. 8,284 ไร่ จังหวัดชุมพร พื้นที่เป้าหมาย 3 แปลง เนื้อที่ 7,578 ไร่ มีผู้ยื่นคัดค้าน 24 ราย (เนื้อที่ 6,842.5ไร่) และจังหวัดยะลา พื้นที่เป้าหมาย 2 แปลง เนื้อที่ 2,482 ไร่ มีผู้ยื่นคัดค้าน 232 ราย (เนื้อที่ 2,482 ไร่)