กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำใน 33 เขื่อนหลักล่าสุดว่า ขณะนี้ มีปริมาณน้ำใน 33 เขื่อนหลักสูงกว่า ปี 2558 อยู่มาก โดย 4 เขื่อนหลักในปี 2558 นั้น มีน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่ามากกว่าเดิมเท่าตัว พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์น้ำเพื่อการเกษตรที่ใช้ในช่วงฤดูแล้งและฤดูฝนปี 2560 ว่า จะมีปริมาณเพียงพอ คือประมาณ 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับให้มีการติดตามและประเมินผลตลอดเวลา สำหรับน้ำในเขื่อนที่มีปริมาณสูงสุด คือ เขื่อนสิริกิติ์ 1,900 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากรับน้ำจากทางแม่น้ำน่าน จ.น่าน และเมื่อเทียบกับปี 2558 มีเพียง 782 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่น้อย อาทิ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ์ กาญจนบุรี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี และ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยมยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่มีเขื่อนรองรับ กรมชลประทานจึงมีแนวทางระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ พร้อมกันนี้จะทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการวางแผนและพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเต็มที่อีกด้วย
ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำยม จ.แพร่ ล่าสุดเมื่อเวลา 16.00 น. (17 ส.ค. 59) ระดับน้ำในแม่น้ำยม ที่สถานีวัดน้ำ Y. 20 บ. ห้วยสัก อ. สอง วัดได้ 4.05 เมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.95 เมตร (ระดับตลิ่ง 12.00 เมตร) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ปริมาณสูงสุดที่รับได้ 3,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) ถัดลงมาที่สถานีวัดน้ำ Y.1C บ.น้ำโค้ง อ.เมืองแพร่ วัดระดับน้ำได้ 8.09 เมตร ระดับน้ำปริ่มตลิ่ง (ระดับตลิ่ง 8.20 เมตร) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 984 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ปริมาณสูงสุดที่รับได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที) แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่สถานี Y.20 ลดลงอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนระดับน้ำที่สถานี Y.1c เริ่มลดลงตั้งแต่เวลา 14.00 น. เป็นต้นมา ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมริมตลิ่งที่ลุ่มต่ำแม่น้ำยมบริเวณ อ.เมืองแพร่ เข้าสู่ภาวะปกติแล้วเช่นกัน
สำหรับปริมาณน้ำจาก จ.แพร่ จะไหลลงสู่จังหวัดสุโขทัยในอีกประมาณ 2 วันข้างหน้า ซึ่งกรมชลประทานคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุดที่สถานี Y.14 อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 1,100 ลูกบาศก์เมตร/วินาที กรมชลประทาน จะใช้ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) อ.สวรรคโลก ในการบริหารจัดการน้ำ ปัจจุบันได้มีการพร่องน้ำหน้าประตูระบายน้ำแม่น้ำยมให้ลดต่ำลง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำหลากจากตอนบน ประมาณ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง ผันน้ำส่วนหนึ่งทางด้านเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม เข้าสู่คลองหกบาทในอัตรา 180 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีไปลงคลองยม – น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า ในอัตรา 80 และ 100 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีตามลำดับ ก่อนจะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน่านด้านเหนือเขื่อนนเรศวร จ.พิษณุโลก ซึ่งได้มีการลดระดับน้ำหน้าเขื่อนไว้รองรับน้ำที่จะมาจากคลองยม - น่านไว้แล้วเช่นกัน