กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--อย.
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ในปี 2544 ทาง อย. ยังมีนโยบายที่จะสานต่อโครงการฉลาดเลือก ฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ให้ผู้บริโภคมีการอ่านฉลากก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อลดปัญหาที่ผู้บริโภคจะได้รับความเดือดร้อนจากกรณีผู้ประกอบบิดเบือนฉลาก สินค้าไม่ได้คุณภาพ สินค้าหมดอายุ ฯลฯ โดยจะใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทในการรณรงค์ผ่านสื่อหลากรูปแบบทั้ง วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ โดยเล็งกลุ่มเป้าหมายไปที่วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา และคนทำงาน จากเดิมที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งกับกลุ่มแม่บ้าน โครงการดังกล่าวถือเป็นกลไกหนึ่งในการกระตุ้นทางอ้อมให้ผู้ประกอบการได้มีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ผลิตออกมาวางจำหน่าย เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายที่จะบังคับใช้ให้ผู้ประกอบการมีการติดฉลากระบุคุณค่าทางโภชนาการยังไม่มีออกมา ดังนั้น การฉลาดเลือก ฉลาดซื้อของผู้บริโภคจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดี และเป็นการสกรีนผู้ประกอบการที่ไม่ได้คุณภาพไปด้วยในตัว
ปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนเรื่องสินค้าไม่ได้คุณภาพตามที่ระบุที่ฉลากเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งรูปแบบมีหลากหลาย อาทิ ในหมวดสินค้าเสริมอาหารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่มีการติดสติกเกอร์ทับวันระบุสินค้าหมดอายุโดยการขยายระยะเวลาออกไปอีก ทั้งที่ของเดิมในฉลากที่ตีพิมพ์ได้ระบุว่าสินค้านั้นได้หมดอายุแล้ว หรือมีการปลอมเครื่องหมาย อย. เป็นต้น
นอกจากนี้ การพิจารณาในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้บริโภคควรตระหนักและให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันมีสินค้าใหม่ที่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งที่ระบุและไม่ระบุคุณค่าทางโภชนาการ โดยผู้ประกอบการใช้วิธีทุ่มงบฯโฆษณาในการกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดการตัดสินใจซื้อมากกว่าที่จะใช้คุณค่าของสินค้าเป็นตัวขายสินค้าด้วยตัวเอง
รูปแบบที่สามารถยกเป็นกรณีศึกษาได้เป็นอย่างดี อาทิ เครื่องดื่มประเภทรังนก ที่มีรายงานทางวิชาการเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจนว่ามีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่าไข่ไก่ครึ่งฟอง ทำให้เครื่องดื่มประเภทนี้ไม่ได้แสดงคุณค่าทางอาหารไว้ที่ฉลาก จะแสดงเพียงส่วนประกอบในการปรุงเท่านั้น หรือกรณีนมผงเด็กก็เป็นอีกตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมานมผงสำหรับเด็กทางรัฐบาลมีนโยบายห้ามโฆษณาเพราะต้องการสนับ สนุนให้ทานนมแม่ให้มากที่สุด จึงทำให้ผู้ประกอบการมาเร่งทำตลาด ทำโฆษณาในสินค้านมสำหรับเด็กโตเพื่อหวังในการตอกย้ำแบรนด์ สร้างแบรนด์ที่ขยายไปสู่นมผงสำหรับทารกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพลิกแพลงของผู้ประ กอบการก็จะมีหลากรูปแบบ แต่ที่ชัดเจนคือ การออกสินค้าใหม่ และสูตรใหม่
ข้อมูลที่เกี่ยวกับนมผงที่สำคัญที่อยากให้ผู้บริโภครับทราบก็คือ คุณค่าทางโภชนาการส่วนใหม่ของแต่ละยี่ห้อนั้นใกล้เคียงกัน การออกสูตรใหม่โดยส่วนใหญ่เป้าหมายเพื่อต้องการปรับราคาขึ้นเท่านั้น ซึ่งผู้บริโภคสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการอ่านฉลากข้างกล่อง ก็จะพบว่าการขึ้นราคาที่ผู้ประกอบการใช้ก็คือ การขายในราคาเดิมแต่ลดปริมาณสินค้าลง 50-100 กรัม เป็นต้น บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีของเหล้าถ้าจะดูว่าเป็นประเภทใดนั้นให้ดูที่สีของอากรแสตมป์กล่าวคือ ถ้าเป็นสีเขียว จะเป็นวิสกี้ อาทิ แบล็กเลเบิล, ชีวาส, สีน้ำเงิน เป็นไวน์, สีม่วงเป็นบรั่นดี และสีส้ม เป็นสปิริต ที่ไม่ใช่วิสกี้ อาทิ คลับเฮาส์ เป็นต้น--จบ--
-สส-