กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ร่วมบูรณาการโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เผย มีเกษตรกรให้ความสนใจมากกว่า 2 พันราย รวม 26 อำเภอ ด้านสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พร้อมติดตามประเมินผลภาพรวมโครงการ โดยร่วมกับซิงเกิ้ลคอมมานทั่วประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัด บูรณาการโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสครองราชย์ครบ 70 ปี ในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำในพื้นที่ของเกษตรกรให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ให้เกษตรกรสามารถผลิตอาหารไว้บริโภคเพียงพอตลอดปี มีรายได้ไว้ใช้จ่ายในครัวเรือน สามารถเลี้ยงตนเองได้ และพัฒนาต่อเนื่องให้มีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ มีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร
สำหรับจังหวัดขอนแก่น ได้รับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรจาก 26 อำเภอ มีเกษตรกรให้ความสนใจจำนวน 2,156 ราย แยกออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีบ่อน้ำทำเกษตรทฤษฎีใหม่แต่ไม่สมบูรณ์ ต้องการพัฒนา กลุ่มที่ 2 เกษตรกรที่มีบ่อน้ำ แต่ยังไม่เคยทำการเกษตรผสมผสาน/ทฤษฎีใหม่ หรือทำแล้วแต่ระบบน้ำไม่เพียงพอกลุ่มที่ 3 เกษตรกรที่ยังไม่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน/ยังไม่เคยทำการเกษตรผสมผสาน/ทฤษฎีใหม่ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบของจังหวัดขอนแก่นจะลงพื้นที่เพื่อจัดทำผังแปลงและวางแผนทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมทั้งสรุปความต้องการปัจจัยการผลิตตามความจำเป็น โดยกลุ่มที่ 1 จะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2559 กลุ่มที่ 2 – 3 ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้กำหนดในพื้นที่ สปก. นิคมสหกรณ์ และพื้นที่ทั่วไป เช่น พื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าว (S3/N) พื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก เป็นต้น ซึ่งจำนวนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งเป้าหมายทั้งประเทศ คือ 70,560 ราย จาก 882 อำเภอๆ ละ 80 ราย รูปแบบการดำเนินการในพื้นที่ของเกษตรกร จะจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 โดยแยกเป็นขุดสระร้อยละ 30 ปลูกข้าวร้อยละ 30 ปลูกพืชไร่พืชสวนร้อยละ 30 และที่อยู่อาศัยร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรรวมพลังในรูปของกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมใจกันดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด และความเป็นอยู่ เป็นต้น โดย สศก. จะทำหน้าที่ติดตามประเมินผลการดำเนินกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ในภาพรวมทั้งประเทศ ประสานงานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะติดตามและประเมินผลการดำเนินกิจกรรมฯ ในภาพรวมของจังหวัดโดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12 เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ