กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--hfocus
"โกวิท" เดินหน้าปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ "ผู้พิการ" เทียบเท่าบัตรทอง เร่งแก้ปัญหาผูกติดโรงพยาบาลกับผู้ประกันตน ยังแทงกั๊กโอนย้ายคนซบ สปสช.
นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เรื่องการรักษาพยาบาลให้กับคนพิการ โดยได้มอบหมายให้กองที่รับผิดชอบไปพิจารณาเทียบเคียงดูว่าสิทธิประโยชน์ใดที่คนพิการในระบบประกันสังคมได้รับน้อยกว่าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้กับผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง เมื่อทราบแล้วก็ให้เร่งแก้ไขปรับปรุงโดยเร็ว
"ระบบประกันสังคมมีการผูกผู้ประกันตนไว้กับโรงพยาบาลที่ลงทะเบียน ซึ่งเราก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ด้วย" นายโกวิท กล่าว
นายโกวิท กล่าวอีกว่า ระหว่างที่คณะกรรมการแพทย์หารือกันว่าจะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ส่วนใดให้เทียบเท่าระบบบัตรทองนั้น จำเป็นต้องพิจารณาว่าในช่วงรอยต่อนี้จะดูแลคนพิการให้ได้รับบริการที่สะดวกสบายอย่างไร
สำหรับแนวคิดเรื่องการโอนคนพิการจากระบบประกันสังคมไปให้ สปสช.เป็นผู้ดูแลนั้น ส่วนตัวมองว่ายังเป็นแนวคิดที่ต้องพิจารณาในหลายด้านและมีผลกระทบเกี่ยวโยงกับหลายหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น เมื่อ สปส.โอนคนพิการไปก็ต้องให้เม็ดเงินแก่ สปสช.ด้วย คำถามคือเงินส่วนนี้ใครจะเป็นผู้จ่าย
"ถามว่าจะเอาเงินจากไหน รัฐบาลหรือสำนักงานประกันสังคม นี่ยังไม่นับสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่มากกว่าแค่เรื่องสิทธิรักษาพยาบาล ที่สุดแล้วต้องกลับมาดูว่าข้อเสนอดังกล่าวมันทำได้จริงหรือไม่ หลายคนมองว่าเป็นเรื่องง่ายแค่โอนย้ายไปก็จบ แต่ในรายละเอียดยังมีอีกมาก"นายโกวิท กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานแก่คนพิการกำลังทำให้คนพิการได้รับความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ โดยคนพิการที่สมัครเข้าทำงานและมีนายจ้างจะต้องเปลี่ยนสิทธิประกันสุขภาพจากเดิมที่ใช้ระบบบัตรทองเป็นประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ระบบบัตรทองให้สิทธิคนพิการรักษาฟรีในสถานพยาบาลใดก็ได้ ขณะที่ระบบประกันสังคมคนพิการจะต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อให้เกิดสิทธิ และสามารถเข้ารับการรักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ลงทะเบียนประกันตนเอาไว้เท่านั้น
สำหรับทางแก้ไข นพ.ยศ เสนอว่า ให้โอนคนพิการจากระบบประกันสังคมมาสู่ระบบบัตรทอง ซึ่งชัดเจนว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์