กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--มทร.ธัญบุรี
กว่า 13 ปีประเพณีกิจกรรม "ลูกรักษ์" ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กิจกรรมรูปแบบการรับน้องที่ได้ผ่านการกลั่นกรองแนวคิดที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความสวยงามและยึดหลักความสมัครสมานสามัคคีของเหล่าบรรดารุ่นน้องและรุ่นพี่ รวมถึงอาจารย์ ของทั้ง 12 สาขาวิชาที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่นนับจนถึงปัจจุบัน
"ณัฐ" นายณัฐพล ศรสีดา นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์ไทยศึกษา นายกสโมสรนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า กิจกรรมการลูกรักษ์เป็นกิจกรรมที่มีมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นกิจกรรมการรับน้องที่สร้างสรรค์ ลูกรักษ์ หมายถึงลูกศิษย์อันเป็นที่รักของครูบาอาจารย์ที่เป็นมนุษย์และองค์เทพ ประกอบด้วยกิจกรรม ช่วงเช้าเป็นพิธีมอบตัวเป็นศิษย์ของนักศึกษาใหม่ ซึ่งในพิธีนี้อาจารย์จะมอบลูกรักษ์ให้แก่ลูกศิษย์ ต่อด้วยกิจกรรมการแห่ลูกรักษ์ การเคลื่อนขบวนไปสักการะบูชายังสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย โดยภายในขบวนประกอบไปด้วยเครื่องสักการะบูชา พานขนมหวาน พานผลไม้ เมื่อแห่ไปรอบมหาวิทยาลัยแล้ว กลับมายังคณะเพื่อเข้าสู่พิธีสักการะบูชาพระพุทธรูปประจำคณะฯ และองค์เทพประจำคณะ คือ องค์พ่อพระวิษณุ ทำพิธีถวายเครื่องสังเวย เมื่อเสร็จพิธีถวายเครื่องสักการบูชา เข้าสู่กิจกรรมการโยนลูกรักษ์ ซึ่งทางสโมสรนักศึกษาได้จัดเตรียมคานลูกรักษ์ ซึ่งคานลูกรักษ์ต้องเป็นเสาคาน 4 เสา โดยข้นบนต้องนำตุงมงคลมัดไว้ เข้าสู่การโยนลูกรักษ์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อริยา สุอังคะวาทิน คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นคนโยนลูกรักษ์ลูกแรก ต่อด้วยอาจารย์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ต้องอธิษฐานและสัญญาก่อนโยนไปยังคาน ระหว่างนั้นวงดนตรีเล่นเพลงมหาฤกษ์ มหาชัย โดนมีความเชื่อจากรุ่นพี่ว่าถ้าโยนไม่ข้ามจะเรียนไม่จบ
"ภัส" นายฑีฆภัส สนธินุช นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์ไทยศึกษา ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์สโมสรนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ เล่าว่า ในการรับน้องของนักศึกษาเพื่อให้รุ่นน้องเกิดความประทับใจกับนักศึกษาใหม่ ที่เข้ามาเพื่อหล่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว รู้จักสามัคคี ระหว่างที่ทำกิจกรรมทำให้นักศึกษาทั้ง 12 สาขาวิชาเกิดความรักและภาคภูมิใจในมหาวิทยาลัยฯ การปลูกฝังที่ดีๆ จะทำให้ประเพณีการรับน้องสืบต่อกันไป เกิดแต่สิ่งที่ดีต่อคณะและมหาวิทยาลัยฯ
เฟรชชี่สาขาวิชาดนตรีคีตศิลป์ไทยศึกษา "เดียร์" นายเผดิมพงษ์ ทองอุ่น เล่าว่า ในการเข้าร่วมกิจกรรมระหว่างที่แห่ลูกรักษ์ ทำให้รู้จักสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในมหาวิทยาลัย ในการโยนลูกรักษ์ถ้าโยนลูกรักษ์ไม่ข้ามจะเรียนไม่จบ เป็นความเชื่อส่วนบุคคลครับ สำหรับตนเองในการโยนลูกรักษ์ คือการรวมตัวของคณะศิลปกรรมศาสตร์ที่พร้อมจะช่วยกันรักษาอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ และการสร้างสายใยสัมพันธ์ระหว่างคณะครูและนักศึกษา ซึ่งรุ่นพี่ยังป้อนขนมหวานให้กับรุ่นน้อง เป็นความสัมพันธ์ที่ดี ในการเลือกเรียนดนตรีคีตศิลป์ไทยศึกษา เป็นการรักษาชาติ
เฟรชชี่จากสาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา "กิ๊ก" นางสาวขนิษฐกานต์ ยินดี เล่าว่า ตื่นเต้นกับการรับน้องของคณะมาก สงสัยว่ากิจกรรมลูกรักษ์คืออะไร เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมรู้สึกดีได้เข้าพิธีมอบตัวเป็นศิษย์ ได้เจอเพื่อต่างสาขาวิชา ซึ่งส่วนตัวในการโยนลูกรักษ์เป็นการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ต้องการโยนข้ามคานเป็นความมุ่งมั่นที่สร้างศิลปะอย่างหนึ่ง เนื่องจากโยนลูกรักษ์ไปยังคานเกิดเป็นตาข่ายหลากหลายสี เกิดเป็นศิลปะ เป็นการรับน้องใหม่ที่มาก ดีกว่าใช้ความรุนแรง แสดงออกด้วยการเคารพครูอาจารย์
ทางด้าน"ซาน" นางสาววรรณภา ชาดา เฟรชชี่จากสาขาวิชานาฏศิลป์ไทยศึกษา เล่าว่า ในการรับน้องครั้งนี้เป็นการรับน้องที่สร้างสรรค์ไม่มีความรุนแรง และยังเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงาม ทำให้รุ่นพี่และรุ่นน้องได้รู้จักกันมากขึ้น ในการทำกิจกรรมสำนึกถึงความกตัญญูต่อครูอาจารย์ ในการโยนลูกรักษ์แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะสานต่อศิลปวัฒนธรรม ให้มีความดีงามและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น
การโยนลูกรักษ์ของตนเองให้ข้ามเสาที่ตั้งไว้จนเกิดเป็นสายใยถักทอประสานไปมาจาก 1 เส้น เป็น 2,3,4 จนเกิดเป็นโครงสร้างสานใยที่แน่นหนา สวยงามเกิดจากลูกรักษ์ทั้งหมดได้มาประสานเป็นหนึ่งเดียวคือนักศึกษาใหม่คณะศิลปกรรมศาสตร์