กรุงเทพฯ--23 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยกลยุทธ์ การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 10 ข้อ แก้ปัญหาผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนไทยให้สามารถพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการของตลาด อาทิ ค้นหาความต้องการ เน้นการต่อยอด เติมความคิดสร้างสรรค์ เลือกใช้วัตถุดิบ ใส่คุณประโยชน์ พัฒนาด้วยเทคโนโลยี ผลิตอย่างมีมาตรฐาน ใส่ใจบรรจุภัณฑ์ รักษาอัตลักษณ์สินค้า และระมัดระวังต้นทุน เพื่อการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง โดย กสอ. ได้จัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ประจำปี 2559 ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การให้คำปรึกษาในด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การประเมินผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Market Survey การกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Market Test การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้ กสอ. ยังได้จัดงานแถลงผลการดำเนินงานและมอบเกียรติบัตร แก่ผู้ร่วมโครงการภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ประจำปี 2559 ภายในงานThailand Industry Expo 2016 ที่ผ่านมา
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยการบูรณาการงานส่งเสริมSMEs ของประเทศให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งการมุ่งพัฒนาส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชนทั่วทุกภูมิภาคให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งในการวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559) ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วน ขนาด และมูลค่าของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สูงขึ้น
ซึ่งปัญหาหลักของผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนไทยในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องของการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง สินค้าส่วนมากยังขาดการพัฒนาและออกแบบให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีความหลากหลาย ขาดเอกลักษณ์ ความโดดเด่นและความแตกต่าง ทั้งในแง่ของรูปลักษณ์และประโยชน์ใช้สอย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีการผลิตโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาด มีการลอกเลียนแบบสินค้ากันไปมาโดยขาดความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ เป็นสาเหตุทำให้สินค้าไม่สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงมากนัก ทั้งที่ผู้บริโภค ในท้องตลาดโดยเฉพาะในต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยไม่น้อย
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า จากปัญหาดังกล่าว กสอ. จึงริเริ่มโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดขึ้น โดยมุ่งส่งเสริมเติมความรู้ในการออกแบบและพัฒนาสินค้า ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ให้มีคุณภาพความโดดเด่น และมีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโดยใช้การวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ที่เน้นการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผนวกเข้ากับเอกลักษณ์หรือภูมิปัญญาของไทย เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ สามารถสร้างมูลค่าที่ตอบสนองต่อกระแสโลกในอนาคต ซึ่งจากการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ประจำปี 2558 ที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการตอบรับและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปได้จำนวน 264 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว กสอ. ได้รวบรวมกลยุทธ์ที่สำคัญ ในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 10 ข้อ ที่ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องคำนึงถึง ดังนี้
1. ค้นหาความต้องการ (Needs) – การวิเคราะห์เพื่อหาความต้องการของสินค้าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างยิ่งในการที่จะเริ่มต้นผลิตสินค้าอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจทำโดยการสำรวจ สัมภาษณ์ หรือเก็บข้อมูลด้วยวิธีอื่น ๆ ที่สามารถค้นหาความต้องการที่แท้จริงในปัจจุบันของผู้บริโภคได้ ขณะเดียวกันก็ต้องสามารถพยากรณ์เทรนด์หรือแนวโน้มความต้องการใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือยิ่งไปกว่านั้นคือความสามารถในการสร้างให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการสินค้าใหม่ที่กำลังจะผลิตขึ้นได้
2. เน้นการต่อยอด (Development) – การปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นถือว่าเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำอยู่เสมอ ถึงแม้ปัจจุบันลูกค้าจะมีความพึงพอใจกับสินค้าอยู่แล้ว แต่ความต้องการนั้นๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นผู้ประกอบการที่ดีควรมีการพัฒนาสินค้าของตนให้ดีขึ้นและสร้างความพึงพอใจที่มากขึ้นให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ
3. เติมความคิดสร้างสรรค์ (Creative) - ความคิดสร้างสรรค์ในเชิงศิลปะ การสร้างสรรค์ความงามที่แปลกใหม่ให้ผลิตภัณฑ์มีความงดงามและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น เป็นการสื่อถึงความมีรสนิยมในการสร้างสรรค์และออกแบบสินค้า ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความรื่นรมย์และสร้างแรงจูงใจในการอุปโภคและบริโภคสินค้ามากยิ่งขึ้น
4. เลือกใช้วัตถุดิบ (Material) – การพิจารณาเลือกใช้วัตถุดิบอย่างชาญฉลาดจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าที่สร้างความน่าสนใจให้เกิดกับผู้บริโภคได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างความได้เปรียบทางการขายได้อีกด้วย อาทิ การเลือกใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่จะทำให้สินค้ามีต้นทุนไม่สูงและยังสามารถบ่งบอกถึงอัตลักษณ์และจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ได้อีกด้วย
5. ใส่คุณประโยชน์ (Benefit) – ผลิตภัณฑ์ที่ดีจำเป็นต้องมีคุณประโยชน์ที่ชัดเจนทั้งในแง่ของการผลิตและการขาย ต้องสามารถสร้างความชัดเจนในตัวสินค้าในมุมมองของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกกินเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับคุณประโยชน์ที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์นั้นๆ รวมไปถึงสามารถเพิ่มคุณประโยชน์ที่หลากหลายมากขึ้นให้กับสินค้า ทั้งการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และการเพิ่มคุณสมบัติในการใช้สอยของผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
6. พัฒนาด้วยเทคโนโลยี (Technology) – ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถช่วยแก้ปัญหาและลบจุดอ่อนของสินค้าได้ เช่น การปรับสูตรทางเคมี การปรับปรุงส่วนผสม การปรับแต่งกลิ่นและสี การสกัด การอบลมร้อน การอบแห้ง การพ่นฝอย การระเหย เทคโนโลยีฟรีซดราย (Freeze Dry) การใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตต่างๆ เป็นต้น
7. ผลิตอย่างมีมาตรฐาน (Production) – กระบวนการผลิต รวมถึงเครื่องจักรในการผลิต ต้องมีความสะอาด ปราศจากสารพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร จะต้องได้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิตต่าง ๆ อาทิ อย. ฮาลาล มอก. ISO GMP HACCP เป็นต้น เพราะสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
8. ใส่ใจบรรจุภัณฑ์ (Package) – บรรจุภัณฑ์ที่ดีควรมีคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. ต้องสามารถป้องกันและรักษาคุณภาพของสินค้า อาทิ ความชื้น ความร้อน ฝุ่นละออง และการปนเปื้อนต่าง ๆ 2. ต้องส่งเสริมการขาย การออกแบบและโทนสีต้องบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของสินค้า สามารถสื่อสารกับผู้บริโภค ถึงคุณประโยชน์ของสินค้า มีเอกลักษณ์พิเศษที่ดึงดูด สร้างการจดจำ แสดงออกถึงความน่าเชื่อถือของสินค้าและอำนวยความสะดวกในการใช้งาน
9. รักษาอัตลักษณ์สินค้า (Identity) – การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น จะต้องสื่อถึงอัตลักษณ์ของสินค้า ตราสินค้า (Brand) และเอกลักษณ์ของสินค้า ซึ่งจะต้องสามารถสื่อถึงตัวตน และประโยชน์ใช้สอยของสินค้าได้อย่างชัดเจนไม่ผิดเพี้ยน อีกทั้งสามารถสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคจดจำและเข้าใจ ในสิ่งที่ผู้ประกอบการตั้งใจจะสื่อไปถึงผู้บริโภคได้
10. ระมัดระวังต้นทุน (Cost) – การพิจารณาข้อมูลด้านต้นทุนในการผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่งไปจนสิ้นสุดกระบวนการผลิต เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องคำนึงถึงควบคู่ไปกับการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้วัตถุดิบ ปริมาณแรงงาน จำนวนเครื่องจักร พลังงานที่ใช้ ของเสียจากกระบวนการผลิต ฯลฯ เพราะการควบคุมต้นทุนที่ผิดพลาดจะนำไปสู่การตั้งราคาที่สูงเกินความเหมาะสม และทำให้ไม่สามารถสร้างยอดขายได้อย่างที่คาดการณ์
อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การให้คำปรึกษาในด้าน การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การประเมินผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Market Survey การกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การจัดทำ Market Test การปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเป้าหมายส่งเสริมในกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและส่งออก 10 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาหารแปรรูป 2.ยานยนต์และชิ้นส่วน 3.อัญมณีและเครื่องประดับ 4.ยางพารา 5.สิ่งทอและเครื่องนุ่งหุ่ม 6.เครื่องหนัง 7.ไม้และเครื่องเรือน 8.เซรามิกและแก้ว 9.เกษตรแปรรูป 10.เครื่องดื่ม เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้จัดงานแถลงผลการดำเนินงานและมอบเกียรติบัตรแก่ผู้ร่วมโครงการภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ประจำปี 2559 จำนวน 177 กิจการภายในงาน Thailand Industry Expo 2016 ที่ผ่านมา ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ประกอบการที่สามารถออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ได้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการอบรม สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2367 8194 หรือเข้าไปที่www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr