กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา จับมือ SIPA จัดแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นานาชาติ ระดับอุดมศึกษา คัด 10 ทีมตัวแทนภาคใต้ ขึ้นเวทีประชันความสามารถระดับประเทศ
ผศ.ดร.อำนาจ ทองขาว ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นานาชาติ ระดับอุดมศึกษา ACM-ICPC 2016 (ACM International Collegiate Programming Contest) ระดับภูมิภาค (ภาคใต้) โดยความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) ว่า วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างทักษะความสามารถในการเขียนโปรแกรมของนิสิต นักศึกษา สำหรับเตรียมตัวไปแข่งในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีสร้างนักเขียนโปรแกรมรุ่นใหม่ของประเทศที่มีคุณภาพ ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ทั้งยั้งเป็นการสร้างกิจกรรมทางวิชาการด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับมหาวิทยาลัยและประเทศไทยอีกด้วย โดยจะมีการอบรมเตรียมความพร้อมวันที่ 1-4 ก.ย.59 และแข่งขันเขียนโปรแกรมในวันที่ 10 ก.ย. ณ ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มรภ.สงขลา ผู้สนใจสมัครออนไลน์ได้ตั้งแต่บัดนี้- 22 ส.ค. 59 ทางเว็บไซต์http://www.skru.ac.th/acmicpc2016
ผศ.ดร.อำนาจ กล่าวว่า ผู้แข่งขันสมาชิกทีมละ 3 คน จะต้องแก้ไขปัญหา 8-11 ข้อ ภายในเวลา 5 ชั่วโมง โดยมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องเป็นตัวช่วย เป็นการแข่งขันที่เน้นการพัฒนาด้านอัลกอริทึม (Algorithms) ผู้เข้าแข่งขันแก้ปัญหาภายใต้สภาวะที่กดดัน ทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 20,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 15,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท รางวัลพิเศษ 4 รางวัลๆ 3,000 บาท รางวัลสนับสนุนเข้าร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับประเทศไทย สำหรับทีมอันดับ 1-10 จะ ได้รับเงินสนับสนุนทีมละ 6,000 บาท และจะต้องเข้าร่วมการแข่งขันACM-ICPC Thailand National Contest 2016 ช่วง 17-18 ต.ค. ที่มหาวิทยาลัยสารคาม ซึ่ง ACM-ICPC ถือเป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงที่สุด มีการจัดแข่งขันตั้งแต่ระดับชาติ ทวีป รวมถึงชิงชนะเลิศในระดับโลกมาแล้ว 39 ครั้ง
ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการฯ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเริ่มจัดการแข่งขัน ACM-ICPC ระดับประเทศ และระดับภูมิภาคขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2552โดยความร่วมมือระหว่าง SIPA และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ซึ่งได้รับการตอบรับจากนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีการจัดแข่งขันโดยตัวแทนของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคกลาง เพื่อกระจายการแข่งขันให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น