กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ดร.ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย คณบดีคณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของกลุ่มดิจิตอล สตาร์ทอัพ ภายใต้โครงการ SIPA Tech Startup Club ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟแวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เป็นประธานในพิธี ณ ห้องประชุมออดิทอเรี่ยม โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ดร.ชญาน์นันท์ กล่าวว่าโครงการ SIPA Tech Startup Club นี้ มีวัตถุประสงค์ร่วมกันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มี Digital Startup ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อให้เกิดพลังความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานให้สามารถสร้างงานนวัตกรรมใหม่ด้วยตนเอง และเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่สู่ธุรกิจรูปแบบใหม่บนนวัตกรรมสร้างสรรค์
ดร.อุตตม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเป็นเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ (SIPA Tech Startup Club) ระหว่างสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงไอซีที กับสถาบันการศึกษาจำนวน 43 แห่งทั่วประเทศว่า ภารกิจการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลต้องดำเนินการในทุกยุทธศาสตร์ไปพร้อมกัน ปัจจัยสำคัญที่ต้องเน้นคือการพัฒนากำลังคนในการสร้างสรรค์และใช้เทคโนโลยีได้อย่างชาญฉลาด รวมถึงการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน ให้มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในระดับมาตรฐานสากล การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือการพัฒนากำลังคนดิจิทัล (Digital workforce) ขึ้นมารองรับการทำงานในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นกลุ่มคนทำงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลิตภาพการผลิต (Productivity) ในระบบเศรษฐกิจ และกลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคประชาชนทั่วไป
เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบุคลากรผู้ทำงานทุกสาขามีความรู้และทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้างกลุ่มคนทำงานให้มีคุณภาพในการสร้างนวัตกรรม เพื่อเกิดการจ้างงานแบบใหม่ อาชีพใหม่ ธุรกิจใหม่ จะทำให้เกิดบุคลากรด้านธุรกิจนวัตกรรมใหม่ หรือ Digital Startup ที่มีความสามารถสร้างสรรค์และประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมเป็นการพลิกแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ สู่ธุรกิจรูปแบบใหม่บนนวัตกรรมสร้างสรรค์ ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้หารือกับผู้ประกอบการและผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังคน หรือนักรบดิจิทัล ซึ่งเป็นกองกำลังสำคัญที่ต้องสนับสนุนในการฝึกฝนฝีมือสร้างความแข็งแกร่งอย่างเร่งด่วน ซึ่งสถาบันหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในส่วนนี้ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ก็คือสถาบันการศึกษา ดังนั้น การที่ซิป้าส่งเสริมให้มี Digital Startup ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายที่ใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อให้เกิดพลังความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจตั้งแต่รากฐาน จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผนวกกับความรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญภายนอกจะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมใน SIPA Tech Startup Club ได้พัฒนาตนเองได้อย่างรอบด้าน
"วงจรธุรกิจ Startup เริ่มต้นจากผู้ที่มีความสามารถและมีความคิดสร้างสรรค์เพียงไม่กี่คน ทำให้เกิดการลงทุนและสร้างงานให้กับคนอีกเป็นจำนวนมากได้ในระยะสั้น ดังนั้น เมื่อหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนสถาบันการศึกษาซึ่งมีคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญให้ความร่วมมือและสนับสนุน เชื่อมั่นว่าจะทำให้ธุรกิจ Startup ขยายตัวเพิ่มขึ้น
จากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ Digital Startup ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการสนับสนุน 73 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,780 ล้านบาท จากเดิมมีเพียง 3 รายในปี 2012 ซึ่งใน 4 ปีที่ผ่านมา ผลงานด้านดิจิทัลได้รับการยอมรับด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากขึ้น ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจและวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเป็นจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" ดร.อุตตม กล่าวในที่สุด