กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--บีโอไอ
รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มอบนโยบายการดึงดูดการลงทุนแก่หัวหน้าสำนักงานบีโอไอ 14 แห่งทั่วโลก โดยให้เร่งเสนอแผนเพิ่มกำลังคนทั้งในและต่างประเทศ เน้นดึงดูดการลงทุนในเอเชีย โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ หลังปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกเอื้อต่อการลงทุน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ทั้งผู้บริหารระดับสูงและหัวหน้าสำนักงานบีโอไอ ในต่างประเทศทั้ง 14 แห่งทั่วโลก ว่า ขณะนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและภายนอกส่งสัญญาณเชิงบวกต่อการส่งเสริมการลงทุน จึงได้มอบหมายให้บีโอไอเร่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยให้เน้นกลุ่มประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี และสิงคโปร์ และได้มอบหมายให้บีโอไอจัดทำแผนเพิ่มกำลังคนที่จะมาชักจูงการลงทุนเสนอต่อรัฐบาลภายใน 1 เดือนนับจากนี้
"ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor จะเป็นหัวใจในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงความต้องการของนักลงทุนในแต่ละประเทศ เพื่อให้เราสามารถตอบสนองได้ตรงความต้องการ" นายสมคิดกล่าว
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม – ธันวาคม 2559 บีโอไอมีแผนจะเดินทางไปชักจูงการลงทุนในต่างประเทศอีก 17 ครั้ง ซึ่งมีทั้งการเดินทางไปโดยมีรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ และมีผู้บริหารบีโอไอเป็นหัวหน้าคณะ ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการพบปะหารือกับบริษัทชั้นนำของแต่ละประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการชักชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย รวมบริษัทเป้าหมายที่จะชักชวนให้เข้ามาลงทุนประมาณ 70 บริษัท นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมชักจูงการลงทุน ซึ่งจะจัดโดยสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ ทั้ง 14 แห่งในช่วงระหว่าง ส.ค. – ธ.ค. 2559 รวม 31 ครั้ง โดยจะมีการพบปะหารือกับกลุ่มบริษัทเป้าหมายอีกอย่างน้อย 93 ราย
สำหรับภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 เดือนปี 2559 พบว่า มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 853 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนปี 2558 ที่มีจำนวน 483 โครงการ) มูลค่าเงินลงทุนรวม 320,720 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 218 เมื่อเทียบกับช่วง 7 เดือนปี 2558 ที่มีมูลค่า 100,740 ล้านบาท)
ทั้งนี้ การขอรับส่งเสริมการลงทุนพบว่า ร้อยละ 43 ของมูลค่าคำขอ เป็นโครงการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวม 138,871 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด คือ อุตสาหกรรมเกษตร 39,827 ล้านบาท อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 35,443 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 25,972 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 19,002 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 9,081 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ปรับเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายว่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมไม่น้อยกว่า 450,000 ล้านบาท ปรับเป็นไม่น้อยกว่า 550,000 ล้านบาท เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบีโอไอก็ได้รายงานว่า มีโครงการลงทุนสำคัญๆ ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เตรียมจะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในเร็วๆ นี้ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์ ไบโอเทคโนโลยี ยางรถยนต์ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า สิ่งทอ ซอฟต์แวร์ การวิจัยพัฒนา การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์ และเมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นต้น