กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เผยลูกค้ากลุ่ม Wealth ยอมรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นเพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่าเล็งออกผลิตภัณฑ์ซับซ้อนเพิ่มขึ้น ให้ทันกับความต้องการลูกค้าจ้องกวาดลูกค้า Wealth เข้าแบงก์
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย รุกธุรกิจบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล (Wealth Management) มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเป็นผู้ให้คำปรึกษาและนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อลงทุน ทำให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน โดยพบว่าลูกค้าเงินฝากรายใหญ่เริ่มมองหาทางการเงินใหม่ๆ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ ขณะเดียวกัน ลูกค้ายังเปิดกว้างที่จะทำความเข้าใจกับผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นอีกด้วย ทำให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการในการลงทุนของลูกค้าในปัจจุบัน โดยพบว่าลูกค้าเริ่มให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงินมากขึ้น เริ่มมีความรู้ความเข้าใจเรื่องของการวางแผนการลงทุน ประกอบกับในภาวะดอกเบี้ยเงินฝากในระดับต่ำ ทำให้ลูกค้าเริ่มมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นทั้งในและต่างประเทศมีความผันผวน ดังนั้นการลงทุน จึงต้องเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอและกระจายความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของการลงทุน เช่น หุ้นกู้ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยในส่วนของการจำหน่ายหุ้นกู้นั้น ธนาคารจำหน่ายหุ้นกู้ให้ลูกค้ารายย่อย โดยหุ้นกู้ที่ธนาคารคัดเลือกและนำเสนอให้ลูกค้านั้น จะต้องเป็นหุ้นกู้ที่มี Credit Rating ที่ดีและมีแนวโน้มธุรกิจที่สดใส ขณะเดียวกันก็ให้ดอกเบี้ยที่ดีด้วย โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคม ได้จำหน่ายหุ้นกู้ไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การที่ธนาคารเป็นผู้นำในตลาดหุ้นกู้ ทำให้ธุรกิจการให้บริการหุ้นกู้ตลาดรองได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน เพราะธนาคารเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนหุ้นกู้ ทำให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจาก Capital Gain และเพิ่มสภาพคล่อง (liquidity) ให้กับนักลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องถือหุ้นกู้จนครบกำหนดอายุ
นอกจากนี้ ในส่วนของกองทุนรวม ธนาคารได้ร่วมกับบลจ.ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล เสนอขาย กองทุนรวมซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล สตราทีจิค อินคัม ฟันด์ (CIMB Principal SIF) ซึ่งเป็นกองทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและต่างประเทศประมาณ 60% และกองทุนอสังหาริมทรัพย์, กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศอีกประมาณ 40% โดยประมาณการผลตอบแทนอยู่ที่ 3.5-4% ต่อปี ซึ่งกองทุนนี้ ได้รับการตอบรับดีมากจากนักลงทุน เนื่องจาก ความผันผวนต่ำและมีความคล่องตัว สามารถขายคืนได้ทุกเดือน โดยกองนี้เพิ่งเปิดขายได้ประมาณ 3 เดือน แต่มีขนาดกองทุนประมาณ 6,000 ล้านบาทแล้ว นอกจากนี้ กองทุนรวมซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล โกลบอล อินฟราสตรัคเจอร์ อิควิตี้ (CIMB Principal GIF) ซึ่งลงทุนในหุ้นที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก เช่น สนามบิน ทางด่วน ท่อส่งก๊าซ ฯลฯ ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้จะมีความผันผวนต่ำ เนื่องจากมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ และเป็นธุรกิจผูกขาดในประเทศนั้นๆ ทำให้กองทุนนี้ มีความผันผวนต่ำและให้ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ กองทุนนี้ เพิ่งตั้งกองทุนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 โดยผลตอบแทนตั้งแต่ตั้งกองทุน จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 8.68%
"ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย พยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก ซึ่งถ้าดูโดยภาพรวมการออมผ่านเงินฝากตอนนี้ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.25-1.25% ต่อปีขณะที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ของธนาคารในระยะที่ผ่านมา เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้าได้ตั้งแต่ 1.6-12% ไล่ตั้งแต่เงินฝากพิเศษดอกเบี้ยสูง 1.6% หุ้นกู้ที่เสนอขายในตลาดรองที่ให้ผลตอบแทน 2.8-3.6% หุ้นกู้ที่เสนอขายในตลาดแรกที่ให้ผลตอบแทน 3-4.5% หุ้นกู้อนุพันธ์ที่ให้ผลตอบแทน 3-6%" นายอดิศร กล่าว
นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การสร้างผลตอบแทนทางการเงินที่น่าพอใจแม้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำ เกิดจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา อีกทั้งธนาคารได้ใช้จุดแข็งในการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญจาก CIMB Group ในการเสนอผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ทำให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนมาประยุกต์และนำเสนอให้ลูกค้ารายใหญ่ในประเทศได้เลือกลงทุน
นายสุธีร์ กล่าวว่า แม้ธนาคารจะเพิ่งเริ่มบุกตลาดนี้ได้ไม่นาน แต่ธนาคารทำผลงานได้ดีในตลาดตราสารหนี้ โดย ณ เดือน ก.ค. 2559 ธนาคารติดอันดับ 3 การรับประกันการจำหน่ายตราสารหนี้ในตลาดแรก (underwriting – primary market) และรั้งอันดับ 2 การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรอง (corporate bond trading – secondary market) จัดอันดับโดยสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
"เรามีผลิตภัณฑ์หลากหลายที่ตอบสนองทุกความต้องการ เพราะเราทราบว่าลูกค้ารับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ที่จ่ายผลตอบแทนอิงกับอัตราดอกเบี้ย หุ้นกู้อิงกับอัตราแลกเปลี่ยน สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ และการที่ลูกค้ายอมรับรับความเสี่ยงได้สูงขึ้นและมีมุมมองเกี่ยวกับตัวแปรที่ต้องอิงต่างๆทำให้ลูกค้าสามารถแปรเปลี่ยนมุมมองหรือทิศทางของตัวแปรดังกล่าวมาสร้างผลตอบแทนในหุ้นกู้อนุพันธ์
"จากการเป็นเครือข่ายของ CIMB Group และความสามารถในการบริหารความเสี่ยงโดยคนไทยทำให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้ตามความต้องการได้ นอกจากนี้ ธนาคารต้องอาศัยการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บวกกับความคิดสร้างสรรค์ จึงสามารถคัดสรรผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ตรงใจลูกค้า และให้ผลตอบแทนสูงอย่างไรก็ดี การนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อลงทุนนั้นไม่ง่าย เป็นภารกิจที่ยากและท้าทาย ต้องทุ่มเททรัพยากร การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ และสร้างกระบวนการติดตามดูแลและชี้แจงทำความเช้าใจกับลูกค้า และที่สำคัญคือต้องทำให้ลูกค้ารู้จักและเข้าใจผลิตภัณฑ์ให้ได้" นายสุธีร์ กล่าว
นายอดิศร กล่าวทิ้งท้ายว่า หัวใจของ Wealth Management คือ เจ้าหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษา ขณะนี้ธนาคารกำลังเดินหน้าพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทีมที่ต้องเชี่ยวชาญการแนะนำการลงทุน ต้องแนะนำอย่างมีความรู้ ต้องได้รับการอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และต้องเข้าใจความต้องการลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อในท้ายที่สุดเมื่อลูกค้านึกถึงเรื่อง Wealth จะต้องนึกถึงธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย โดยธนาคารตั้งเป้าขยายฐานลูกค้า Wealth ให้เติบโตมากขึ้น