กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การผลิตข้าวที่ไม่สมดุลกับความต้องการตลาด รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าข้าวแห่งชาติ เพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิรูปภาคการเกษตร โดยใช้หลักคิด "ตลาดนำการผลิต หรือผลิตให้มีปริมาณผลผลิตตรงกับปริมาณความต้องการของตลาด" เพื่อมิให้เกิดปัญหากระทบต่อเกษตรกรในเรื่องราคาและการส่งออก มีเป้าหมายปรับเปลี่ยนพื้นที่นาปี รอบที่ 1 จำนวน 0.57 ล้านไร่ โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินตามโครงการที่กำหนดไว้
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปปลูกพืชอื่น ในพื้นที่ 4.2 แสนไร่ ในพื้นที่ 30 จังหวัด ทั้งการปรับเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหรือเกษตรผสมผสาน ซึ่งจะได้มีการจัดการด้านการผลิตและบริหารจัดการเรื่องการตลาดควบคู่กันไป มีแนวทางพัฒนาการส่งเสริมปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือชาวนาที่ได้ผลกระทบดังกล่าว โดยการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าว
ไปปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตามสภาพพื้นที่และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อการผลิตพืชชนิดต่าง ๆ ตามความต้องการตลาด รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์เล็ก เช่น เป็ด ไก่ และการประมง เพื่อการบริโภคของครัวเรือนควบคู่กันไป ซึ่งจะส่งผลให้มีการลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกได้มากที่สุด และเกษตรกรมีผลตอบแทนที่เพียงพอทำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพการเกษตร สร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนได้
รูปแบบการดำเนินโครงการจะมีการกำหนดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว โดยพิจารณาจากพื้นที่ความเหมาะสมกับศักยภาพ การผลิตของพื้นที่และเกษตรกร และจัดทำบัญชีรายชื่อเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจากนั้นตรวจสอบพื้นที่และเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมโครงการ พร้อมทั้งจัดทำคู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการและเอกสารคำแนะนำสำหรับเกษตรกรในการดำเนินกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่นมีการจัดประชุมชี้แจงโครงการให้แก่เจ้าหน้าที่ในส่วนกลาง ภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความเข้าใจโครงการและแนวทางการดำเนินงานประชาสัมพันธ์และรับสมัครเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยเป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์เป็นของตนเอง และอยู่ในฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งโครงการนี้ได้เสนองบประมาณดำเนินการตามกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงพื้นที่ สร้างระบบน้ำ และปัจจัยการผลิต เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในระหว่างการปรับเปลี่ยนพื้นที่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและมีอาหารบริโภคในครัวเรือน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้
ด้าน น.สพ.ไพโรจน์ เฮงแสงชัย รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สำหรับโครงการที่กรมปศุสัตว์ดำเนินการทั้ง 4 โครงการ ในพื้นที่ 1.5 แสนไร่ ได้แก่ 1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ 2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่องเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ 3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ และ 4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า มีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 40 จังหวัด ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ส่งเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในพื้นที่และจัดเก็บรวบรวมข้อมูลไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที โดยเกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนทำปศุสัตว์/นาหญ้า จะมีรายได้เสริมจากการขายมูลสัตว์ และขายหญ้าอาหารสัตว์ รวมทั้งมีปริมาณปศุสัตว์ (กระบือ โค แพะ) เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอีกด้วย