กรุงเทพ--22 ก.พ.--ปรส.
อาคารสินธร ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ ... เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 3 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ตามคำร้องขอของผู้ชำระบัญชีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ปรส. และได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท(คณะกรรมการตามมาตรา 30) ทั้งนี้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 30 วรรคท้ายแห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540
นายกมล จันทิมา ประธานกรรมการ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เปิดเผยว่า ผู้ชำระบัญชีของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นครหลวง-เครดิต จำกัด (มหาชน) และ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 ว่า บริษัททั้ง 3 แห่งมีทรัพย์สินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ จึงขอให้ศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันเดียวกัน
"กรณีของ 3 บริษัทนี้มีเหตุผลเดียวกับกรณีบริษัทเงินทุนเอเชียธนกิจจำกัด (มหาชน) ซึ่งเจ้าหนี้บางรายได้ฟ้องร้องคดีและดำเนินการบังคับคดี เพื่อหวังจะได้รับชำระหนี้ทั้งหมดและก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ แม้ว่าปรส.จะได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อยุติการดำเนินการของเจ้าหนี้รายนี้แล้วแต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย จึงไม่สามารถยับยั้งไม่ให้เจ้าหนี้ทำการบังคับคดีบริษัท ทั้ง 3 แห่งได้" ประธานกรรมการ ปรส.กล่าว
สำหรับขั้นตอนหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) จะเข้ามาดำเนินการสอบสวนตรวจสอบหนี้ และรวบรวมทรัพย์สินเพื่อเฉลี่ยเงินคืนเจ้าหนี้ต่อไปโดยจะไม่ทำให้เจ้าหนี้รายใดได้เปรียบเจ้าหนี้รายอื่น แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม ทั้งนี้ เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือนหรืออาจขยายได้อีก 2เดือน กรณีเป็นเจ้าหนี้นอกราชอาณาจักร หากพ้นจากนั้นจะถือว่าไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้
นายกมลกล่าวด้วยว่า แม้ว่า ปรส.จะหมดภาระหน้าที่ในการดูแลบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่ง นับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่ ปรส.ก็จะช่วยงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ดำเนินไปได้โดยสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยส่งมอบเอกสารและการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับการตรวจสอบยอดหนี้และการวินิจฉัยหนี้ให้กับ จพท.
ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทเงินทุน 3 แห่งที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอส ซี เอฟ จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2536 มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 520 ล้านบาท เป็น 1 ใน 42 บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 12,141.26 ล้านบาท หนี้สินรวม 27,844.48 ล้านบาท โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินยื่นคำขอรับชำระหนี้ในสัดส่วนประมาณ 87% ของหนี้ที่ขอรับชำระทั้งหมดในบริษัทนี้
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 มีทุนจดทะเบียน 621 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 520 ล้านบาทเป็น 1 ใน 42 บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 12,290.92 ล้านบาท หนี้สินรวม 27,441.34 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ในส่วนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินประมาณ 78% ของยอดหนี้ทั้งหมด
บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2539 ด้วยทุนจดทะเบียน 470 ล้านบาท เรียกชำระแล้ว 366.25 ล้านบาทเป็น 1 ใน 42 บริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2542 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 5,297.77 ล้านบาท หนี้สินรวม 14,464.28 ล้านบาท โดยเป็นหนี้ในส่วนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินประมาณ 79% ของยอดหนี้ทั้งหมด--จบ--