กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) กรกฎาคม 2559 จำนวน 1,113 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 25.9,34.0 และ 40.1 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 46.3,13.7,13.3,11.7 และ 15.0 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 83.1 และ 16.9 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.3 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งมีปัจจัยลบจากความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ รวมทั้งการแข่งขันด้านราคา และปัญหาขาดสภาพคล่องโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ผู้บริโภคยังมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายโดยรวมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าแฟชั่น อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องสำอาง ขณะเดียวกันสินค้าในกลุ่มก่อสร้าง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ หลังคาและอุปกรณ์ ปรับตัวลดลง จากภาคก่อสร้างที่ชะลอตัวในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ ปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ยังเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.8 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินระดับ 100 ในรอบ 5 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2559 จะมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของภาคเอกชนในระยะต่อไป
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนกรกฎาคม 2559 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 72.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 73.2 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก และอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.1 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 81.1ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 81.8 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.8 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 96.0 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น, อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.3 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม 2559 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 88.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 88.3 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ปริมาณการผลิต และยอดขายปูนซิเมนต์ในประเทศปรับตัวลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ภาคก่อสร้างชะลอตัวทำให้ความต้องการใช้ลดลง ขณะเดียวกันการส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชาลดลง) อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (สินค้าประเภทกระจกเงาและกระจกเคลือบผิว มียอดขายในประเทศ และการส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง ผลิตภัณฑ์ประเภทแก้วเจียระไนและแก้วคริสตัสมียอดขายในประเทศ และส่งออกไปประเทศไต้หวันและยุโรปลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น แป้ง ครีมบำรุงผิว มียอดขายในประเทศและการส่งออกไปประเทศฝรั่งเศส สหรัฐและรัสเซีย ลดลง ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ยอดขายอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม ในประเทศเพิ่มขึ้นโดยได้รับผลดีจากวันหยุดต่อเนื่องช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ประกอบกับรัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง สุกร ไก่เนื้อ มียอดสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐฯ และตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้น) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 100.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 69.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 70.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าประเภทประติมากรรมทองเหลือง มียอดส่งออกไปยุโรปลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประกอบกับเป็นช่วง low season ทำให้ยอดขายสินค้าหัตถกรรมในประเทศลดลง ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ประเภทจักสาน เครื่องปั้นดินเผา สินค้า Handmade มียอดคำสั่งซื้อจากยุโรปและเอเชียลดลง) อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์ประเภทหินก่อสร้าง ที่มีขนาดใหญ่ หินตกแต่ง มียอดขายในประเทศลดลง ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น ปูผนัง แกรนิต มียอดสั่งซื้อจากประเทศในกลุ่ม CLMV ลดลงเช่นกัน) อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา ชุดอาหารมียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันลดลง เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (ผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ มีการออกไปประเทศฮ่องกง จีน เพิ่มขึ้นเนื่องจากสรรพคุณและคุณภาพเป็นที่ไว้วางใจ ประกอบกับมีการออกงานแสดงสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 75.4ปรับตัวลดลงจากระดับ 76.0 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายดิบมียอดขายในประเทศ และการส่งออกไปประเทศในอาเซียนลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (สินค้าประเภทอะไหล่เครื่องจักรกลการเกษตร รถขุด รถดิน เครื่องมือเกษตร มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีการชะลอการสั่งซื้อและมีสินค้าค้างสต๊อกจำนวนมาก) อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ยอดการผลิตและยอดขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าแฟชั่นชะลอตัว จากปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน) ส่วนอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (การผลิตและยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำรองไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภท Monolithic IC และแผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา จากความต้องการใช้ที่เพิ่มทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยุโรปและจีน) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 99.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 99.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.6 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก มีการส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนการผลิตลดลง) อุตสาหกรรมเคมี (สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของ ผลิตน้ำยาทำความสะอาด เครื่องสำอาง ยา มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ประเภทโซดาไฟ มียอดการผลิตและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ มีการส่งออกไปประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มฟื้นตัว) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เครื่องประดับประเภททองคำ ไข่มุก อัญมณีสังเคราะห์ มีคำสั่งซื้อลดลงจาก สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง สหภาพยุโรป และสหรัฐฯเครื่องประดับเงินและเพชรมียอดการส่งออกลดลง จากตะวันออกกลาง และเยอรมนี) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 103.7 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 84.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 81.7 เดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น ถุงมือยาง ถุงยางอนามัยและถุงมือที่ใช้ในทางการแพทย์ มีการส่งออกไปประเทศจีน CLMV ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (การส่งออกไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราไทยไปยังตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจีนนำเข้าเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์) อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (ยอดคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นไม้สับ จากประเทศอินโดนีเซีย จีนละฮ่องกงเพิ่มขึ้น สินค้าประเภทแผ่นปาร์ติเกิลบอร์ด ไม้แผ่นบาง ไม้อัด มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม มียอดขายในประเทศลดลง ขณะเดียวกันผลผลิตปาล์มน้ำมันดิบลดลง ทำให้ราคาวัตถุดิบซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.5 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 ของกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนมิถุนายน
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 83.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 84.1 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมรองเท้า และอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 100.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 88.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.2 ในเดือนมิถุนายน สำหรับองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ด้านอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 96.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัว
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกรกฎาคม คือ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในช่วงปลายปีงบประมาณ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งแก้ปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ รวมทั้งควรมีการส่งเสริมการจัดหาช่องทางจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในประเทศ – ต่างประเทศ และออกมาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น