กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Industrial Technology Assistance Program : ITAP) จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการแพร่กระจายความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่สาธารณชนของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทุกฝ่ายต่างก็มีความคาดหวังและมีความต้องการที่จะเห็นการแพร่กระจายของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ภาคเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแหล่งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศเป็นสำคัญจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ลงทุนเพื่อให้เกิด กลไกการกระจายของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บ่อยครั้งที่กลไกดังกล่าวจะต้องลงทุนทั้งฝ่ายที่เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และฝ่ายที่เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีประเทศ ที่เข้าใจเรื่องนี้เช่น ประเทศ เกาหลีใต้จะมีธนาคารเทคโนโลยี เพื่อปล่อย สินเชื่อให้แก่เอกชนที่ประสงค์จะลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศแคนาดามีโครงการไอแร็ป (IRAP ย่อมาจาก Industrial Research Assistance Project) ซึ่งได้ประสบความสำเร็จมาเป็นเวลา 50 ปีจนถึงปัจจุบัน ในการชักนำให้ ภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ช่วยปรับปรุงการใช้ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี จากแหล่งของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างได้ผลคุ้มค่า ค่าใช้จ่ายที่ เกิดขึ้นในการเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นการลงทุนร่วมกัน ระหว่างภาครัฐและเอกชนแต่ละราย ประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการ นำร่องคล้ายไอแร็ปของแคนาดา
และประสบความสำเร็จในหลายโรงงาน ขณะนี้ได้เสนอโครงการให้กว้างขวางมากขึ้นครอบคลุมประมาณ 2500 โรงงาน ภายในระยะเวลา 5 ปี เรียกว่า "โครงการไอแท็ป" เป็นโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP ย่อจาก Industrial Technology Assistance Project) ซึ่งคาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลในเร็วๆนี้ เพื่อความอยู่รอดทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศ จนกระทั่งสามารถ ยืนหยัด อยู่ได้อย่างมั่นคงและอย่างยั่งยืนต่อไป เพื่อเป็นการดำเนินงานให้สอดคล้อง กับนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เล็งเห็น ความสำคัญนี้ จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการ "การพัฒนาประสิทธิภาพการฉีดพลาสติกโดยการปรับตั้งเครื่องฉีดและการออกแบบแม่พิมพ์อย่างมืออาชีพ" ระหว่างวันที่ 28 เมษายน 2544 - 10 มิถุนายน 2544 โดยจะแบ่งโครงการเป็น 2 ส่วน คือ การจัดการฝึกอบรม เรื่อง "ทฤษฎีการปรับตั้งฉีดพลาสติกและการออกแบบแม่พิมพ์" เป็นระยะเวลา 10 วัน และ การให้คำปรึกษาเพื่อ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้กับผู้ประกอบการ 7 บริษัท เป็นระยะเวลา 21 วัน โดยผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมัน คือ Mr. Wilhelm Schmidt ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณภาพสูงและมีประสบการณ์โดยตรงในอุตสาหกรรมพลาสติก มากกว่า 40 ปี
นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญไทย คือ ดร. พีระวัฒน์ สมนึก จากกรมวิทยา-ศาสตร์บริการ เข้าร่วมช่วยบรรยายไทยตลอดการฝึกอบรม และนักวิชาการจากภาครัฐ เข้าร่วมให้คำปรึกษากับบริษัทที่ประสงค์จะขอรับคำปรึกษา ณ ที่ทำการของบริษัท โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาจะเสียค่าใช้จ่ายคนละ 5,000 บาท และ บริษัทที่ประสงค์จะให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษา จะเสียค่าใช้จ่าย บริษัทละ 17,000 บาท(ไม่รวม VAT) ประสบการณ์และความสำเร็จที่ผ่านมาในปี 2541 และ 2542 สวทช. ได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุตสาหกรรมฉีดพลาสติก (Plastic Injection Industry) จากประเทศเยอรมัน คือ Mr. Wilhelm Schmidt เข้าไปให้คำปรึกษาแก่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นจำนวน 2 โครงการ รวมระยะเวลา 3 เดือนครึ่ง และ จากการประเมินผลโครงการทราบว่า โครงการนี้ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมาก กล่าวคือ บริษัทฯสามารถลดปริมาณสูญเสียของชิ้นงานที่เกิดจากแม่พิมพ์และกระบวนการฉีดพลาสติก เพราะสามารถออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ที่มีความแข็งแรง ใช้งานได้นานขึ้น ทำให้ประหยัด วัตถุดิบ และผลิตชิ้นงานที่มีความซับซ้อนได้รวดเร็วขึ้น จึงทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง และบุคลากรของบริษัทยังได้ความรู้ทางเทคนิคเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในระหว่างโครงการผู้เชี่ยวชาญยังได้ร่วมกับ สวทช. และ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการทั่วไป เรื่อง "การปรับตั้งเครื่องฉีดอย่างมืออาชีพ" (Setting and Optimizing of Injection Molding Machine) เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ประกอบการรายอื่น จำนวน 30 บริษัท ซึ่งได้รับการเรียกร้องจากผู้ประกอบการให้จัดโครงการเช่นนี้อีก ต่อมาในปี 2543 สวทช.ได้เชิญ Mr.Schmidt เข้ามาดำเนิน "โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการฉีดพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมสนับสนุน" โดยให้คำปรึกษา และฝึกอบรมพนักงานของอุตสาหกรรมฉีดพลาสติกจำนวน 6 บริษัท ซึ่งผลจากการดำเนินโครงการครั้งนี้ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการพอใจกับคุณภาพของผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ในระดับปฏิบัติงานจริง ในงานฉีดพลาสติกและการออกแบบแม่พิมพ์ ทำให้พนักงานที่เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ทางเทคนิคเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจ ส่งผลให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และมีปริมาณของเสียลดลงประมาณ 10 - 20% ทำให้บริษัทสามารถเพิ่มกำไรได้ ประมาณ 3 - 5% โดยทุกบริษัทมีความต้องการให้จัดโครงการในลักษณะนี้อีกครั้งหนึ่งโดยเร็วจากการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา สวทช. โดย โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) มีความมั่นใจว่า Mr. Schmidt เป็นผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์และความสามารถที่สูงมากและควรที่จะให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยอย่างต่อเนื่อง
หากผู้ประกอบการรายใด สนใจเข้าร่วมโครงการ กรุณาส่งใบตอบรับแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการ ภายในวันที่ 9 มีนาคม 2544 ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณนพดล ห้อธิวงศ์ หรือ คุณสมจินตนา มาฆะธรรมเจริญโครงการ ITAP / สวทช. โทรศัพท์ 248-7541-8 ต่อ 106 และ 116 โทรสาร 248-7549--จบ--
-สส-