กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชน ต่อการแก้ไขปัญหายาบ้า กรณีศึกษาคนกรุงเทพมหานครและคนต่างจังหวัดทุกสาขาอาชีพจำนวน 1,121 คน ระหว่างวันที่ 17 – 20 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.8 ระบุปัญหายาบ้ากำลังรุนแรงมาก ถึง มากที่สุด รองลงมาคือร้อยละ 9.7 ระบุปานกลาง แต่มีเพียงร้อยละ 3.5 ระบุรุนแรงน้อย ถึง ไม่รุนแรงเลย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.8 ระบุว่า ทราบข่าวปัญหายาบ้าจากสื่อมวลชน ในขณะที่เพียงร้อยละ 18.2 ระบุว่า พบเจอปัญหายาบ้าด้วยตนเองและได้รับความเดือดร้อนจากปัญหายาบ้าโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการแก้ปัญหายาบ้าที่ผ่านมาถูกจุดตามทิศทางเหมาะสมกับสังคมไทยแล้วหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.1 ระบุยังไม่ถูกจุด เพราะปัญหายังไม่ลดลงจริง ในขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุแก้ได้ถูกทางเหมาะสมกับสังคมไทยแล้ว
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหายาบ้าแบบใหม่ ที่ดี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.0 ระบุ เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ปัญหามากขึ้น รองลงไปคือ ร้อยละ 88.9 ระบุ จัดระบบดูแลติดตามช่วยเหลือผู้เสพยาบ้า พ้นจากวงจร การค้ายา โดยทุกภาคส่วนช่วยกัน ร้อยละ 86.3 ระบุมีกฎหมายยอมรับ คนเสพฯ หลังรักษาหายขาดแล้ว ได้มีงานทำใช้ชีวิตปกติสุจริตชน ร้อยละ 76.2 เรียกร้องให้เปลี่ยนการทำลายอนาคตผู้เสพยาบ้า มาเป็นการให้โอกาสอยู่ร่วมกันอย่างดีในชุมชน ในขณะที่ ร้อยละ 54.3 ระบุล้างประวัติผู้เสพยา ที่ไม่มีความผิดอื่นให้โอกาสเป็นคนดี และร้อยละ 31.3 ระบุ ทำให้ราคายาบ้า ถูกลง ทำลายผลกำไรของขบวนการค้ายบ้า ตามลำดับ
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นวิธีการใหม่ในการแก้ปัญหายาบ้า คณะวิจัยจึงเสนอ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก คือ เสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและการมีส่วนร่วมของสาธารณชนต่อการแก้ไขปัญหายาบ้า เพราะ "จุดแตกหัก" เอาชนะยาบ้าอยู่ในระดับพื้นที่ชุมชนทั้งชุมชนแนวดิ่ง และชุมชนแนวราบ ไม่ใช่อยู่ที่ข้างบนเชิงนโยบายเป็นหลักเท่านั้น การทำให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมต้องไม่ใช่แค่คำสวยหรู อย่างเดียวแต่ต้องทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากไปที่การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผลที่ตามมาคือการลดแรงเสียดทานต่อการแก้ปัญหายาบ้าที่ออกมาจากข้างบนเชิงนโยบายได้
แนวทางที่สอง คือ ลด "มายาคติ" ในหมู่ประชาชนเพราะ แนวทางการแก้ปัญหายาบ้าของรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมามักจะสร้างภาพให้ ยาบ้า น่ากลัวจนทำให้ในเวลานี้เกิดอาการหลอนในสมองของภาคประชาชนคนปกติมากกว่าอาการหลอนในกลุ่มผู้เสพยาบ้าเพราะถ้าหากยาบ้าทำให้ผู้เสพทุกคนที่มีอยู่เป็นล้านคนเกิดอาการหลอนจริง คงจะมีคนบ้าจากฤทธิ์ยาออกมาเต็มบ้านเต็มเมืองมากกว่านี้ และผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนที่เดือดร้อนโดยตรงกับยาบ้าที่เจอกับตัวเองนั้นก็มีเป็นส่วนน้อย
แนวทางที่สาม คือ มีกฎหมายปกป้องสิทธิของผู้เสพยาบ้าที่ไม่มีความผิดอาญาอื่นใดและผ่านการบำบัดรักษาหายขาดแล้วมีงานทำ ไม่ถูกกีดกัน เพราะสังคมไม่ต้องการผลักดันผู้เสพยาบ้าไปอยู่ในพื้นที่ของอาชญากรเช่นกัน แต่การบังคับใช้กฎหมายปราบปรามผู้ค้ารายใหญ่และผู้ผลิตต้องจริงจังและต่อเนื่องต่อไป