กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
ภัยพิบัติที่เกิดต่อเนื่องมาในประเทศไทย เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีแนวโน้มที่จะเกิดรุนแรงมากขึ้น สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภัยที่เกิดจากอัคคีภัย อาคารถล่ม ซึ่งเกิดกับบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงงานและภายในอาคารสาธารณะ สถานบันเทิง สวนสนุก ภัยที่เกิดจากระบบการขนส่งและการจราจร ภัยที่เกิดจากเหตุการณ์ทางธรรมชาติ พายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม รวมไปถึงภัยที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. นางสาวบุษกร แสนสุข ประธานสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เสนอแนวทางความร่วมมือในการป้องกัน ลดความเสี่ยงและความเสียหายจากภัยพิบัติในชีวิตประจำวันและภัยที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว สังคมและเศรษฐกิจ โดยอาศัยหลักการและมาตรฐานด้านวิศวกรรมและการบริหารจัดการ วสท.พร้อมเผยเตรียมจัดงานใหญ่ วิศวกรรมแห่งชาติ 59โดยเป็นนิทรรศการและสัมมนาใหญ่ภายใต้ธีม "วิศวกรรมกับความปลอดภัยสาธารณะ" ในวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2559 ณ โซนเอและห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึง การจัดงานใหญ่ วิศวกรรมแห่งชาติ 59 หรือ National Engineering 2016 โดยเป็นนิทรรศการและสัมมนาใหญ่ ภายใต้ธีม"วิศวกรรมกับความปลอดภัยสาธารณะ" (Public Safety Engineering) ในวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2559 ณ โซนเอและห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ งานประกอบด้วยนิทรรศการ จัดแสดงสินค้าและบริการทางวิศวกรรม และการสัมมนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งนี้ในย่างก้าวที่ประเทศไทยมุ่งพัฒนาเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและองค์ความรู้ เมืองหลวงกรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยวต่างๆในทุกภูมิภาค ต่างขยายตัวด้วยสาธารณูปโภค สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ที่อยู่อาศัย เทคโนโลยีและบริการทันสมัยใหม่ๆในวิถีชีวิตประจำวัน แต่ปัจจัยความเสี่ยงภัยที่มากับการพัฒนาและการเติบโตของเมือง ธุรกิจอุตสาหกรรมใหม่ๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบตอประชาชนได้มากขึ้นไปด้วย อาทิเช่น ภัยพิบัติธรรมชาติที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการ อัคคีภัย อาคารถล่ม ถนนทรุด ภัยจากไซเบอร์ วินาศกรรมนั้น ในการพัฒนาชุมชนและเมืองจะต้องไม่มุ่งเน้นแต่ผลทางกายภาพ สิ่งปลูกสร้างและรายได้ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะต้องเสริมสร้างองค์ความรู้และสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับประชาชนทุกระดับ ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่นักลงทุน ผู้ออกแบบ ผู้ผลิต ผู้รับเหมา หน่วยงานภาครัฐผู้ตรวจสอบและบังคับใช้กฏหมาย ผู้บริหารจัดการและดูแลบำรุงรักษา ผู้ให้บริการแก่ประชาชน แนวทางการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 ควรควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ประเทศไทยที่ปลอดภัยด้วยองค์ความรู้และแนวคิดทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยสาธารณะด้วย
เหตุการณ์จากภัยพิบัติในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น อาคารโรงแรมถล่มที่เกาะช้าง ไฟไหม้อาคารเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ปิ่นเกล้า ไฟไหม้หอพักนักเรียนที่เวียงป่าเป้าที่ทำให้เด็กเสียชีวิตมากถึง 17 ราย และล่าสุดจากระเบิดในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว 3 วันที่ผ่านมานั้น เหตุการณ์เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน นักท่องเที่ยวและธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) มีความยินดีให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร โดยจะร่วมศึกษาแนวทางสร้างเสริมความปลอดภัย และจัดอบรมให้ความรู้ด้านวิศวกรรมและการบริหารจัดการให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกสาขาวิชาชีพ รวมไปถึงผู้ประกอบการและบุคคลากรในธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนของสังคมชุมชนและการท่องเที่ยวของไทยซึ่งได้สร้างงานสร้างรายได้เข้าประเทศมากมาย โดยในปี 2559 มีเป้าหมาย 2.57 ล้านล้านบาท และกรุงเทพมหานครยังคงเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดถึง 18.3 ล้านคน
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วสท. กล่าวถึง ความเสี่ยงภัยพิบัติด้านสาธารณูปโภค ว่า ในสภาวะที่โลกเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้ายกายภาพจากการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อม ความประมาทและข้อผิดพลาดจากมนุษย์ ยังคงมีผลต่อการเกิดภัยพิบัติทางสาธารณูปโภค เช่น ถนนทรุด น้ำท่วม ตึกถล่ม ส่วนแผ่นดินไหว แม้จะมีโอกาสเกิดได้น้อยแต่เราต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาท การปลูกสร้างอาคารต่างๆต้องปฏิบัติกฏเกณฑ์ ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยสาธารณะในด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ การออกแบบและก่อสร้างด้วยมาตรฐานทางวิศวกรรม ศึกษาปัจจัยสภาพแวดล้อมอย่างรอบด้าน บุคคลากรมีการฝึกฝนและเรียนรู้ข้อปฎิบัติเมื่อเกิดภัยพิบัติ ประชาชนและชุมชนควรมีการฝึกซ้อมแผนการรับมือภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอ
นางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วสท. กล่าวถึง ความเสี่ยงทางด้านอัคคีภัยและแนวทางการป้องกันในอาคารประเภทต่างๆ นั้น ทุกอาคารจะต้องมีการออกแบบ ติดตั้งระบบความปลอดภัยด้านอัคคีภัยให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐาน จัดเตรียมระบบความปลอดภัยให้เหมาะสมกับประเภทอาคารหรือลักษณะของผู้ใช้อาคาร มีการบำรุงรักษาอุปกรณ์และทดสอบสมรรถนะเป็นประจำ มีการประเมินความเสี่ยงอัคคีภัย ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ดี เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานรับรอง มีการตรวจสอบอาคารตามที่กฎหมายกำหนดและมีแผนฉุกเฉินอัคคีภัย ซ้อมแผนเป็นประจำทุกปี สำหรับทางด้านความเสี่ยงภัยที่เกี่ยวกับระบบเครื่องกล เครื่องจักรที่มีผลต่อความปลอดภัยสาธารณะ ประกอบด้วย ระบบการขนส่งทั้งภายในอาคาร ทางน้ำ ทางบก เช่น ระบบลิฟต์ บันไดเลื่อน ระบบขนส่ง รถโดยสาร รถตู้ เรือโดยสาร เครื่องเล่นสวนสนุก รถยนต์พ่วงที่นำมาบริการในสวนสัตว์หรือสวนสนุก ฯลฯ ซึ่งในงานวิศวกรรมแห่งชาติ 2559 ครั้งนี้จะจัดให้มีการแสดงนิทรรศการและเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานและเป็นสากล มีการจัดสัมมนาให้ความรู้วิศวกรรมกับความปลอดภัยสาธารณะ เช่น แนวทางการออกแบบและบริหารจัดการอาคารปลอดภัย เช่น โรงเรียนปลอดภัย(เวียงป่าเป้าโมเดล) บ้านปลอดภัย (Home Fire Safety)ที่พักอาศัย โรงภาพยนต์ สถานบริการ สถานบันเทิง ศูนย์การค้า อาคารโรงงาน สวนสนุก รถขนส่งสาธารณะ รวมทั้งการนำเสนอแผนในการบริหารจัดการ ตรวจสอบ ดูแล บำรุงรักษา แผนฉุกเฉินอัคคีภัย การดับเพลิงและการกู้ภัยในอาคารสูง ตลอดจนการลดความเสี่ยงอัคคีภัยด้วยการให้ความรู้ในการเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน การดูแล การรักษาให้มีความปลอดภัย เป็นต้น
การที่จะทำให้ระบบความปลอดภัยเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนแบบบูรณาการ ทุกหน่วยงานต้องมีบทบาทที่ชัดเจน ประสานกำลังและร่วมมือกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ภาครัฐ ภาคเอกชน ต้องมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ที่มีบทบาทในการบังคับใช้กฎหมายต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอน การขออนุญาตก่อสร้าง ก่อนการเปิดใช้อาคาร และการกำกับดูแลขณะที่มีการใช้งานอาคาร กำกับดูแลในการเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารและความเพียงพอเหมาะสมของระบบความปลอดภัย ทุกองค์กรและสมาคมวิชาชีพร่วมพัฒนากฎหมายและมาตรฐานให้ทันสมัย สอดคล้องกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน มีแผนบริหารจัดการ แผนรองรับและลดผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทุกด้าน รวมไปแผนในการพัฒนาคน ประชาชนและบุคลากรทุกหน่วยงาน ต้องเร่งเสริมความรู้ สร้างความตระหนักและจิตสำนึกแห่งความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อให้ประชาชนเป็นกำลังสำคัญซึ่งจะมีบทบาทในการตรวจสอบระบบความปลอดภัยขั้นพื้นฐานในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมไปถึงอาคารที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง สร้างค่านิยมเรื่องความปลอดภัยให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน
คุณหลินฟ้า คูร์พิพัฒน์ ที่ปรึกษาวิชาการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวถึงผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติที่มีผลต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย ว่า สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีความตระหนักว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นบริการที่ละเอียดอ่อนและเปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ อีกทั้งมีความอ่อนไหวต่อเหตุร้าย ภัยพิบัติและข่าวลือ ความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในการพัฒนาบุคคลากรให้มีความรู้เพื่อร่วมกันสร้างเสริมยกระดับความปลอดภัยสาธารณะโดยสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาความก้าวหน้าสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับภาครัฐในการประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของนักท่องเที่ยว และรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อให้เกิดความตระหนักในการต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ดีที่สุด สนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการดูแลอาคารสถานที่ให้มีความปลอดภัย เข้าไปมีส่วนร่วมรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว อาทิ การรณรงค์ด้านจรรยาบรรณการประกอบการ การบริหารจัดการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ รวมตลอดจนการผลักดันให้มีคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในการบริหาร
ยุทธศาสตร์การพัฒนาของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาด้านการบริหารท่องเที่ยวชุมชน และ สนับสนุน สินค้าบริการ สู่ 4 ประเทศ CLMV และพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ ด้านการลงทุน และ พร้อมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการในด้านการตลาดให้สอดคล้องกับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ดังนั้น เป็นที่ทราบดีว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย ยังเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ สู่ประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน
คุณศรัณยพงศ์ อนิวัตกูลชัย เลขาธิการสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการท่องเที่ยว กล่าวถึงการส่งเสริม มาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวเพื่อเตรียมพร้อมการขยายตัวสู่ประเทศไทย 4.0 ว่า ปัจจุบันมีความหลากหลายในความสนใจของนักท่องเที่ยว และความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว ปัจจัยในการตัดสินใจท่องเที่ยวนมาจากเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม การบริการที่ดี และความปลอดภัยด้วย บุคคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยุคใหม่จึงต้องเป็นผู้รอบรู้และตระหนักถึงความปลอดภัยและดำเนินงานภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านท่องเที่ยวตามหลักสากลด้วย
คุณวิรัตน์ เลาหนิวัตวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท SECCOM (THAILAND) กล่าวถึงเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย ว่า การเลือกใช้เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยสาธารณะให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เจ้าของอาคารสถานที่ควรศึกษาอย่างถ่องแท้ ถึงวัตถุประสงค์ พื้นที่แวดล้อม และวิธีการใช้งานด้านเทคนิค ข้อดี-ข้อเสีย การติดตั้งที่ถูกต้องมามมาตรฐาน และข้อปฏิบัติในการดูแลบำรุงรักษา ตลอดจนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ