กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ) โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่ปรึกษาการสำรวจวิจัยและออกแบบโครงการ ได้ลงพื้นที่และนำเสนอแบบแปลนการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งย่านบางอ้อ ที่หมู่บ้านมัสยิดดารุ้ลอิหซาน ซอยจรัลสนิทวงศ์ 94 ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมย่านบางอ้อที่อบอุ่นน่าอยู่ ผสมผสานระหว่างประวัติศาสตร์ชุมชนและวิถีเมืองยุคใหม่ที่ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสได้เข้ามาใกล้
อ.ธนกฤต มีสมจิตร์ ที่ปรึกษาการมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่าคณะทำงาน สจล.และ มข.ในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(Chao Phraya for All) พบปะหารือกับหมู่บ้านมัสยิดดารุ้ลอิหซานเพื่อเสนอแบบเบื้องต้นจากการประชุมครั้งก่อน กล่าวว่า สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและสังคมไทยนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมประเพณีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขตลอดมา ในหลักศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของพี่น้องชาวไทยมุสลิมต้องการความสงบและเป็นส่วนตัว ชาวหมู่บ้านมัสยิดดารุลอิหซานได้แสดงความเห็นในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น อยากให้พัฒนาทางเข้าหมู่บ้านเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้า BTS บางอ้อ เข้ากับทางเดินริมน้ำ เพื่อให้ชาวหมู่บ้านสามารถเดินเข้าหมู่บ้านได้สะดวกปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันทางเข้าหมู่บ้านเป็นที่ดินเอกชนแคบๆ ขนาด 1 เมตร เท่านั้น เสนอแนะที่ตั้งของทางเดินริมน้ำควรเว้นระยะห่างจากฝั่งอย่างน้อย 6 เมตร เนื่องจากวิถีมุสลิมต้องการความสงบเป็นส่วนตัว อีกทั้งพื้นที่คุ้งน้ำเป็นที่พักตะกอนดินเกิดดินงอกได้ง่าย ท้องน้ำตื้นเขิน ศาลาท่าน้ำออกแบบให้รับกับสถาปัตยกรรมของมัสยิดและอยู่ในแนวทางเดินริมน้ำเพื่อชาวหมู่บ้านใช้ประโยชน์พักคอยเรือ หรือพักผ่อนได้ โดยทางเดินริมน้ำควรเชื่อมต่อ 2 จุด คือ ที่ปากคลองเพื่อการสัญจรที่สะดวกของชาวหมู่บ้าน อีกจุดหนึ่งให้เชื่อมต่อกับสะพานส่งศพตามประเพณี และมีประตูเปิด-ปิดสำหรับชุมชนด้วย ขยับจุดชมวิวออกไปและออกแบบในลักษณะซุงแพคล้ายในอดีต นอกจากนี้ทางคอนกรีตที่ขนศพตามประเพณีจะขยายเป็น 3 เมตร ส่วนพื้นที่ว่างหลังเขื่อนพัฒนาเป็นสวนธรรมชาติเพื่อการพักผ่อน
หมู่บ้านมัสยิดดารุ้ลอิหซาน มีประวัติความเป็นมาของชุมชนสมัยรัชกาลที่ 6 ดั้งเดิมมีอาชีพค้าซุงและไม้ บ้านเรือนแต่เดิมเป็นเรือนแพ ด้วยลักษณะภูมิประเทศและท้องน้ำเป็นลานตะพัก เป็นคุ้งน้ำที่มีท้องน้ำตื้นจึงกลายเป็นแหล่งพักซุงใหญ่ของย่านบางอ้อในสมัยก่อน และทำกิจการโรงเลื่อยฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ และต่อมาได้ขยายตัวมาปลูกบ้านเรือนบนฝั่งแม่น้ำ ปัจจุบันมีอาชีพประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าขายและรับจ้างทั่วไป ผู้นำชุมชน มีท่านอิหม่าม มนู เพ็ชรทองคำ และคุณมาโนช เพ็ชรทองคำเป็นผู้นำชุมชน กลางหมู่บ้านเป็นสนามหญ้าสีเขียว มี รร.อนุบาล มัสยิดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ หมู่บ้านที่มีความเข้มแข็งและกลมเกลียว เปี่ยมด้วยความกะตือรือร้นและความร่วมมือกันเพือสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตในชุมชน เช่น มูลนิธิมัสยิดดารุ้ลอิหฺซาน ซึ่งมี นายมานะ เพ็ชรทองคำ เป็นประธานคนแรก ดำเนินงานมากว่า 30 ปี ส่งเสริมและเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ตลอดจนวิชาการต่างๆ จัดการเรียนการสอนภาคฤดูร้อน และให้ทุนการศึกษาแก่เยาวชน ช่วยเหลือเด็กกำพร้าอนาถาให้ได้รับการศึกษา ช่วยเหลือประชาชนตามอัตภาพ ช่วยเหลือและส่งเสริมการสาธารณสุข บรรเทาสาธารณภัย จัดหาตำราการศึกษา รวมทั้งติดต่อแลกเปลี่ยนครู อาจารย์ในด้านวิชาการต่างๆ
อ.ธนกฤต มีสมจิตร ที่ปรึกษาการมีส่วนร่วม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ในภาพรวมความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) นั้น สำหรับระยะโครงการ 57 กม.เราลงพื้นที่ประชุมกลุ่มย่อยกับภาคีในเขตต่างๆซึ่งมีประชาชน ภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการให้ข้อมูลการพัฒนาระยะนำร่องซึ่งมี 12 แผน เพื่อให้ประชาคมนอกระยะ 7 กม.ได้เห็นตัวอย่างของการพัฒนาจากระยะนำร่องและเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ส่วนในโครงการระยะนำร่อง 14 กม.ได้ลงพื้นที่นำแบบไปพูดคุยและรับฟังความเห็นจากชุมชนและเจ้าของพื้นที่