กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) นำแบบลงพื้นที่ชุมชนท่าน้ำสามเสน ถนนดาวข่าง ตอกย้ำการพัฒนาพื้นที่บนฐานมรดกวัฒนธรรม ให้เป็นมรดกชาติในแนวทางมรดกโลก และเชื่อมต่อมรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นด้วยทางเดิน-จักรยาน บางส่วนเลียบแม่น้ำ บางส่วนวกเข้าพื้นดิน โดยกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาการสำรวจวิจัยและออกแบบ จัดทำผังแม่บท 57 กม. และออกแบบรายละเอียดระยะนำร่อง 14 กม.จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า มุ่งพัฒนาแนวอนุรักษ์-สืบสาน-สร้างสรรค์วิถีวัฒนธรรมริมน้ำ อีกทั้งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน
อ.รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ภูมิสถาปนิกและประวัติศาสตร์ชุมชน สจล.ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) กล่าวว่า น้อยคนนักที่จะรู้จักชุมชนท่าน้ำสามเสน ชุมชนย้อนยุคที่ซ่อนตัวอยู่กลางใจเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บนถนนเล็กๆชื่อ ดาวข่าง ที่อาจฟังแปลกหูแต่เปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรีและความกลมเกลียวเข้มแข็งของชุมชน นิเวศทางสังคม แง่มุมประวัติศาสตร์ชุมชนมีประวัติตั้งรกรากมากกว่า 90 ปี บนที่ดินของ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อดีตอันรุ่งเรืองของท่าน้ำสามเสน ที่นี่เคยเป็นท่าทรายของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการสร้างและความเจริญก้าวหน้าของเมือง ในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู มีตลาดเช้าที่คึกคัก ร้านยาโบราณ ร้านทอง ตลาดใหญ่ริมแม่น้ำในลักษณะห้องแถวไม้คล้ายเมืองสามชุก สุพรรณบุรี มีอู่ต่อเรือซึ่งปิดกิจการไปแล้วเมื่อถนนและรถบรรทุกเข้ามาแทนที่การใช้เรือและคมนาคมทางน้ำ คลองเล็กจากแม่น้ำเคยที่มีเรือเข้า-ออกจากแม่น้ำไปยังอู่ต่อเรือ บ้านเรือหลังสุดท้ายก็ยังคงอยู่และใช้พักอาศัย ศูนย์รวมทางจิตใจ คือ หลวงปู่ทวด วัดประสาทบุญญาวาส ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 183 ปี สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2376 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดขวิด เนื่องจากมีต้นมะขวิดเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปีพ.ศ. 2487 เปลี่ยนชื่อเป็นวัดบุญญาวาส นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าจีนอยู่ใกล้ๆกัน
จากการที่ สจล.ได้ลงชุมชนสำรวจและประชุมหารือกับชุมชนท่าน้ำสามเสนหลายครั้ง ได้เก็บข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธ์ วัฒนธรรม นิเวศธรรมชาติ ความต้องการของชุมชนข้างต้น แบบการพัฒนาพื้นที่ในแนวทางอนุรักษ์-สืบสาน-สร้างสรรค์ เราเรียนรู้จากอดีต ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน และมองไกลถีงอนาคตร่วมกัน การออกแบบพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย แนวคิดการฟื้นฟูคลองเล็กให้กลับมาใช้งานได้และแก้ไขปัญหาน้ำเสีย การอนุรักษ์และพัฒนาอาคารไม้ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานของ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พัฒนาฟื้นฟูตลาดคนเดิน ศาลาชุมชนและท่าเรือรับ-ส่งจากท่าน้ำสามเสนไปยังโลตัสจรัญสนิทวงศ์ และพื้นที่ใกล้เคียง ทางเดินริมน้ำเดิมของชุมชนจะลดระดับความสูงของเขื่อนกันน้ำท่วมลงประมาณ 80 ซม.เพื่อให้เป็นพื้นที่ทางเดินต่อเนื่องกับลานกิจกรรมเปิดกว้างสู่ทิวทัศน์แม่น้ำ เชื่อมความสัมพันธ์ของคนกับแม่น้ำ และทำกิจกรรมชุมชน และเชื่อมต่อกับพื้นที่มหาวิทยาลัยใกล้เคียงกัน บริเวณชายน้ำทำป่าชายเลนช่วยพยุงดิน
คุณวีรศักดิ์ หาญโชคชัยสกุล ประธานชุมชนท่าน้ำสามเสน กล่าวว่า ทางชุมชนได้ร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แบบที่ออกมาสอดคล้องกับสิ่งที่ชุมชนอยากให้พัฒนา 5 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาน้ำขังเน่าเสียกลางชุมชน, ปรับปรุงลานกีฬาและสนามเด็กเล่น ,ฟื้นฟูท่าเรือ เพื่อใช้เป็นท่าเรือข้ามฟาก, เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับศูนย์ดูแลเด็กเล็กซึ่งบริหารจัดการโดยชุมชน ที่นี่เรามีศูนย์การเรียนรู้ธนาคารขยะ ส่วนทางเดินเท้าภายนอกของโครงการฯควรมีทางลาดสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งนี้แนวทางพัฒนาจะสอดคล้องกับ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและยินดีสนับสนุนโครงการของภาครัฐ
ลักษณะของพื้นที่ชุมชนและอาชีพ อาณาบริเวณทิศเหนือ จรดคลองสามเสน , ทิศใต้ จรดมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช , ทิศตะวันตก จรดแม่น้ำเจ้าพระยาและวัด เทพนารี วัดเทพากร , ทิศตะวันออก จรดวังศุโขทัย วัดประสาทบุญญาวาส ถนนสุโขทัย และด้านหลังวชิรพยาบาล ชุมชนท่าน้ำสามเสน มีประชากร รวม 1,831 คน โดยมี 420 ครัวเรือน บ้านจำนวน355 หลัง ชาวชุมชนมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทั้งไทย จีน และฮินดู อยู่ร่วมกันด้วยความไว้วางใจ เป็นเพื่อนบ้านกันตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ท่าเรือข้ามฟากแม่น้ำไปยังวัดเทพนารี วัดเทพากร บางพลัดได้ ผู้คนมีความคุ้นเคยกับชุมชนชาวเรือด้วยกัน คือ ชุมชนสีคาม ศาลเจ้าแม่ทับทิม มิตตคาม 1 และ ปัจจุบันท่าทรายเลิกไป เพราะมีเรือยนต์ขนาดใหญ่ทดแทนเรือไม้ที่เคยขนทราย และรูปแบบการค้าขายวัสดุก่อสร้างเปลี่ยนไป ไม่มีตลาดสดแล้ว อาชีพหลัก ค้าขายและทำงานทั่วไป
ชุมชนท่าน้ำสามเสน ถนนดาวข่าง นับเป็นอีกชุมชนต้นแบบของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและบริการค้าขายรองรับคนในพื่นที่ใกล้เคียงโดยอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยมหินทราธิราชและวชิรพยาบาล พัฒนาผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน เช่น หน่ำเชียงโอเลี้ยง 100 ปี และอื่นๆ