กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--โฟร์ พี แอดส์ (96)
เมื่อเร็วๆนี้ที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดชัยภูมิ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย โฆษกและรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวหลังเป็นประธานเปิด "การประชุมพัฒนาจังหวัดต้นแบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยจังหวัดชัยภูมิ"ว่าอาหารปลอดภัยเป็นเรื่องที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องภายใต้แนวนโยบายของรัฐบาลที่จะชูประเทศไทยให้เป็น "ครัวของโลก" ซึ่งต้องอาศัยความสมดุลระหว่างการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีความสามารถควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัย และได้เลือกจังหวัดเพราะเป็นจุดที่เหมาะสมในการดำเนินงานพัฒนาระบบอาหารปลอดภัย โดยปี 2559 มีเป้าหมาย จะพัฒนาจังหวัดต้นแบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัย ใน 4 ภาคๆละ1 จังหวัด ภาคเหนือที่ลำปาง ภาคใต้ที่ระนอง ภาคกลางที่สระบุรี และภาคอีสานที่ชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดมีต้นทุนในเชิงภูมิประเทศ มีภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผู้ประกอบการที่รวมตัวกันจัดเป็นชมรม และที่สำคัญคือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำให้คนชัยภูมิมีความปลอดภัยและสุขภาพดี จึงสามารถพัฒนายกระดับคุณภาพอาหารปลอดภัยของชัยภูมิให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการประเมิน การกำหนดพื้นที่เสี่ยง ผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงเพื่อนำมาสู่การค้นหา ซึ่งจะช่วยในเรื่องของประสิทธิภาพ การเก็บตัวอย่างมาสุ่มตรวจ การบังคับใช้กฎหมาย และการส่งเสริมผู้บริโภคให้มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง การติดตามกำกับอาหารที่ไม่ปลอดภัย ผลักดันให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนายกระดับคุณภาพของอาหารในส่วนของตัวเอง
ในขณะเดียวกันก็สามารถนำเอาเรื่องของอาหารปลอดภัย มาเพิ่มมูลค่าช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของชัยภูมิในเรื่องของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ"หม่ำ"ซึ่ง เป็นอาหารประจำท้องถิ่นและเป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดปีละไม่ต่ำกว่า 140 ล้านบาท ชัยภูมิได้ให้ความสำคัญกับการผลิตหม่ำตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ได้หม่ำที่มีคุณภาพ จนเกิดเป็นสัญลักษณ์หม่ำชัยภูมิที่เน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นสำคัญ และที่ตลาดยังได้มีการนำ"หม่ำ"มาอยู่ในห้องแอร์ เป็นการสร้างความมั่นใจใน ความสด สะอาดปลอดภัย สร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้ที่ซื้อไปบริโภค จึงมีแนวคิดที่จะประสานส่วนกลางในส่วนนโยบาย รวมทั้งภาคเขตในการขยายในเรื่องของ "หม่ำ" พัฒนาให้เป็น "โอทอป"ของภาคอีสาน ที่คนทั้งประเทศมีความมั่นใจ และจะเตรียมในเรื่องของการออกแบบ การนำเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องในการผลิต"หม่ำ" เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและเพิ่มมูลค่าของ "หม่ำ"โดยที่ต้นทุนยังคงเดิมหรือลดลง
นอกจากนี้ยังเตรียมที่จะตั้งสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย หรือ สสอป.เป็น "ศูนย์ข้อมูลความปลอดภัยด้านอาหาร"และ "ศูนย์วิเคราะห์ความเสี่ยงด้านอาหาร" ซึ่งสอดรับกับนโยบายในระดับทั่วโลกที่มีจุดเชื่อมต่อ ประสานงานระดับประเทศ โดย สสอป.จะเป็นตัวขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์ ประสานงานกับหน่วยงานและคนที่ทำงาน คอยเชื่อมและสนับสนุนให้มีการดำเนินงานด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ให้เกิดการบูรณาการ การทำงานที่เป็นมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทำให้อาหารตลอดทั้งห่วงโซ่ปลอดภัยทั้งระบบ
นายแพทย์สมควร หาญพัฒนชัยกูร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิกล่าวว่า จังหวัดชัยภูมิ ได้ดำเนินงานความปลอดภัยด้านอาหารอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี2547 โดยกำหนดเป็นแผนบูรณาการความปลอดภัยด้านอาหารระดับจังหวัด มีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินงาน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด ประมงจังหวัด เกษตรจังหวัด ศูนย์ วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดโรงพยาบาลสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร ฯลฯ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการและคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารและคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจ.ชัยภูมิ และมีการดำเนินกิจกรรม การป้องกัน ควบคุม กำกับดูแล และเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร ทั้งอาหารสด อาหารแปรรูป อาหารปรุงสำเร็จรูป
โดยเฉพาะ"หม่ำ" ซึ่งเป็นอาหารประจำท้องถิ่นของจ.ชัยภูมิ โดยได้จัดทำ "โครงการเขียงเนื้อสะอาดในตลาดสดน่าซื้อ" เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ผลิตอาหารให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภคอาหาร ซึ่งปัจจุบัน"หม่ำ"ได้รับการพัฒนาคุณภาพและได้รับการส่งเสริมให้เป็นสินค้า OTOP ของจ.ชัยภูมิ ทั้งนี้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ทำงานร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องระบบคุณภาพงาน อาหารปลอดภัยให้สอดคล้องกับหลักสากล รองรับระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยของจังหวัดชัยภูมิ ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR) และพร้อมรับการประเมินจาก WHO ต่อไป
ด้านดร.ไพบูลย์ เอี่ยมขำ ผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย(สสอป.)กล่าวว่าผลการประเมิน/พัฒนาระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัย จ.ชัยภูมิ ได้ระดับคะแนนเฉลี่ยร้อยละ95 ซึ่งอยู่ในระดับอ้างอิง หมายถึงชัยภูมิมีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาสู่การเป็น "จังหวัดต้นแบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัย" โดยทาง สสอป.ยินดีจะให้การสนับสนุนในเรื่องการเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการดำเนินงานในบางส่วนที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จัดเวทีซ้อมแผนในกรณีเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยด้านอาหาร จัดเวทีเพื่อทำความเข้าใจในการกรอกข้อมูลและการสื่อสารตามแบบแจ้งเตือนภัยและอุบัติการณ์ของเครือข่ายความปลอดภัยด้านอาหารและเทคนิคการเขียนข่าว สนับสนุน Mobile Unit บุคลากรและงบประมาณในการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารของ จ.ชัยภูมิ รวมทั้งเปิดเว็ปไซด์ สสอป.เป็นช่องทางการสื่อสารแบบออนไลน์เพื่อความรวดเร็วในการประสานงานและการแก้ปัญหา