กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--โฟร์ฮันเดรท
คำว่า "การบำบัดน้ำเสีย" ที่หลายคนอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคืออะไรและมีข้อดีอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อม หากพูดให้เข้าใจง่าย วิธีการบำบัดน้ำเสีย คือการนำน้ำเสียชนิดต่างๆ เข้าสู่กรรมวิธีกำจัดสารปนเปื้อนออกไปจากน้ำเสีย และผ่านการฆ่าเชื้อโรคในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่สามารถนำน้ำเสียนั้นไปปล่อยสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ อาทิ แม่น้ำลำคลอง ทะเล หรือมหาสมุทร ดังนั้นวิธีการบำบัดน้ำเสียจึงเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถลดการเกิดมลภาวะทางน้ำที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
แต่ทั้งนี้การบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่ อาจมีขั้นตอนและกรรมวิธีที่แตกต่างออกไป โดยนายระบิล หิรัญสถิตย์พร ผู้อำนวยการฝ่ายงานโครงการ บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด หรือ (ITALTHAI Engineering : ITE) ได้ขยายความเกี่ยวกับกรรมวิธีการบำบัดน้ำเสียไว้ว่าปัจจุบัน ประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้ำเสียค่อนข้างสูง จากบ้านเรือนคิดอยู่ที่ 80% ของน้ำที่ใช้ และจากโรงงานอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับประเภทของโรงงานที่ต้องดูทั้งค่าความเป็นกรดและด่าง, อุณหภูมิ ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดน้ำเสีย ซึ่งหลักๆ จะดูจากค่าบีโอดี ซีโอดี ของแข็งแขวนลอย น้ำมันและไขมัน เป็นต้น
ซึ่งประเภทของระบบบำบัดน้ำเสียทางชีวภาพ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามชนิดของจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ได้แก่ การบำบัดน้ำเสียแบบใช้อากาศ ( Aerobic wastewater treatment ) เป็นกระบวนการบำบัดน้ำเสียโดยจุลินทรีย์กลุ่มที่ต้องอาศัยออกซิเจนละลายน้ำหรือออกซิเจนอิสระ ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ ซึ่งปฏิกิริยาการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยแบคทีเรียกลุ่มที่ใช้อากาศ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ขั้นตอน ตามลำดับดังนี้ คือ
ขั้นตอนที่ 1 : เป็นกระบวนการนำสารอินทรีย์หรือสารอาหารเข้าไปในเซลล์ โดยจุลินทรีย์จะส่งเอนไซม์ ออกมาย่อยสลายสารอินทรีย์ที่มาเกาะติดที่ผนังเซลล์เพื่อเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของสารโมเลกุลเล็กที่จะสามารถซึมผ่านเข้าไปในเซลล์ของจุลินทรีย์ได้
ขั้นตอนที่ 2 : เป็นกระบวนการทางชีวเคมีภายในเซลล์จุลินทรีย์ เพื่อที่จะผลิตพลังงานไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ และการสร้างเซลล์ใหม่ เมื่อสารอินทรีย์ในน้ำเสียถูกเปลี่ยนรูปมาเป็นจุลินทรีย์เซลล์ใหม่ จะรวมตัวกันเป็นฟล็อก ( Biological flocculation ) ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้น และแยกออกจากน้ำเสียได้ง่ายด้วยการตกตะกอน
และระบบบำบัดน้ำเสียทางเคมี ( Chemical Treatment System ) ซึ่งเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียโดยการแยกสารหรือสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ในน้ำเสียที่บำบัด อาทิ โลหะหนัก สารพิษ ที่มีสภาพความเป็นกรดด่างสูงปนเปื้อนอยู่ ด้วยการเติมสารเคมีลงไปเพื่อไปทำปฏิกิริยา ซึ่งจะมีประโยชน์ในการแยกสาร แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมีค่าใช้จ่ายสำหรับสารเคมีค่อนข้างสูง ดังนั้นกระบวนการทางเคมีจะเลือกใช้ก็ต่อเมื่อน้ำเสียไม่สามารถบำบัดได้ด้วยกระบวนการทางกายภาพหรือชีวภาพได้
โดยบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด มีความเชี่ยวชาญระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ปัจจุบันดูแลระบบรีไซเคิลน้ำของบริษัท ชลัมเบอร์เจอร์ อินดรัสทรีส์ (ประเทศไทย) จำกัด และระบบบำบัดน้ำเสียของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)