กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--อินไซด์ทูเดย์
สานสัมพันธ์ 40 ปี การทูตไทย-เวียดนามสร้างพระเครื่อง "พระโพธิสัตว์ ทิก กว๋าง ดึ๊ก"ครบรอบ 53 ปี วันแห่งการถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานแถลงข่าวการจัดสร้างวัตถุมงคล พระเครื่องชุด "พระโพธิสัตว์ ทิก กว๋าง ดึ๊ก" ในวาระครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม และยังเป็นวาระครบรอบ 53 ปี แห่งการถวายชีวิตเพื่อเป็นพุทธบูชาของพระทิก กว๋าง ดึ๊ก โดยมีนายพีรพล ตริยะเกษม นายชัยวัฒน์ ชัยจินดาวัธน์ นายสุบิน ชูวรเชษฐ์ และนายสุเฑพ ศิลปะงาม ร่วมแถลงข่าว พร้อมเปิดประติมากรรมพระโพธิสัตว์ ทิก กว๋าง ดึ๊ก หนึ่งเดียวในโลก ที่ทำจากเหล็ก จากฝีมือของนายบรรเจิด เหล็กคง ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติ ศิลปิน ดารา นักร้อง นางแบบ นางงาม อาทิ เชอรี่-เมลิสา มหาผล Miss Thailand World 2006 ลูกหมี-รัศมีรัศมี ทองสิริไพรศรี, เอ๋-อัจฉรา ทองเทพ, เกรซ-กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า, ดนัย จารุจินดา, มะนาว-ศรศิลป์ มณีวรรณ์, แคนดี้ รากแก่น, พี สะเดิด และเฟม-ชวิน ลิขิตเจริญพงษ์ รวมทั้งสื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนเวียดนามจำนวนมากร่วมงาน ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก
คณะบุคคลคนไทยเชื้อสายเวียดนาม เปิดบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามครั้งใหญ่ ด้วยการจัดสร้างวัตถุมงคล พระเครื่องชุด "พระโพธิสัตว์ ทิก กว๋าง ดึ๊ก" ทำพิธีปลุกเสกในประเทศไทย หวังให้คนเวียดนามทั่วโลกเก็บไว้เคารพบูชา รายได้สมทบทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน สร้างเจดีย์ 13 ชั้น ณ วัดเวียดนามกกตื้อ ประเทศเวียดนาม และมอบให้มูลนิธิพระดาบส ในประเทศไทย
นายพีรพล ตริยะเกษม ประธานจัดสร้างฯ กล่าวถึงประวัติพระทิก กว๋าง ดึ๊ก ว่า ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2440 เป็นพระภิกษุในนิกายมหายานชาวเวียดนามที่เผาตัวเองจนมรณภาพบนถนนในไซง่อนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2506 เพื่อประท้วงและหยุดความเลือดเย็นในการเข่นฆ่าชาวพุทธอย่างอำมหิตในยุคสมัยนั้น
พระทิก กว๋าง ดึ๊ก กล่าวไว้ว่า "ข้าพเจ้าไมได้ฆ่าตัวตายเพราะมิจฉาทิฐิ แต่ข้าพเจ้าตายเพื่อคนหูหนวกจะได้ยิน เพื่อคนตาบอดจะได้มองเห็น เพื่อยุติการเข่นฆ่าสายเลือดเดียวกัน"
หลังการมรณภาพได้มีการนำร่างของท่านไปทำพิธีฌาปนกิจศพ แต่หัวใจที่ได้จากศพของท่านไม่มอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน ซึ่งมีการตีความว่าถึงความเมตตา จนได้รับการกล่าวขานให้เป็นพระภิกษุหัวใจอมตะ ถวายชีวิตในกองเพลิง เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาในเวียดนาม และพุทธศาสนิกชนในเวียดนามยกย่องให้พระทิก กว๋าง ดึ๊ก เป็น "พระโพธิสัตว์" ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ทั่วโลกต่างเคารพนับถือและศรัทธาท่านอย่างมาก
ด้านนายสุเฑพ ศิลปงาม ผู้อำนวยการโครงการจัดสร้างวัตถุมงคล "พระโพธิสัตว์ ทิก กว๋าง ดึ๊ก" เปิดเผยว่า โครงการฯ นี้ เกิดขึ้นจากการเห็นพ้องต้องกันของคณะบุคคลคนไทยเชื้อสายเวียดนามและนักธุรกิจไทยในเวียดนาม นำโดย นายพีรพล ตริยะเกษม นายชัยวัฒน์ ชัยจินดาวัธน์ นายสุบิน ชูวรเชษฐ์ และผม ที่จะจัดทำสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นมงคล เพื่อร่วมกันเฉลิมฉลองที่ในปี พ.ศ.2559 นี้ เป็นวาระครบรอบ 40 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ทั้งนี้ โดยเล็งเห็นว่าพุทธศาสนานับเป็นศาสนาที่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ให้ความศรัทธาและนับถือเป็นจำนวนมาก การจัดทำพระเครื่องด้วยความร่วมมือของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ จึงมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง และปีนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 53 ปี แห่งการถวายชีวิตเพื่อเป็นพุทธบูชาของพระทิก กว๋าง ดึ๊กด้วย
โดยพระเครื่องชุด "พระโพธิสัตว์ ทิก กว๋างดึ๊ก" นี้ จะมีด้วยกัน 4 แบบ ได้แก่ แบบแรก เป็นพระบูชา มีขนาด 3 นิ้ว 5 นิ้ว และ 9 นิ้ว แบบที่สอง เป็นเหรียญลักษณะหยดน้ำ (หมายถึงหยดน้ำฝน หยดน้ำที่ชโลมใจ) มีทั้งเนื้อทองคำ ทองชุบ เนื้อเงิน เนื้อสามกษัตริย์ และนวะโลหะ แบบที่สาม เป็นพระสมเด็จเนื้อผง ลักษณะหยดน้ำ และแบบที่สี่ เป็นใบโพธิ์สีทองและสีเขียวมรกต
พระเครื่องทุกแบบจัดสร้างในประเทศไทย พร้อมทำพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559 ณ วัดญวน นางเลิ้ง ในประเทศไทย โดยจะมีพระพรหมมังคลาจารย์ หรือท่านเจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีฝ่ายสงฆ์ และหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิธีฝ่ายฆราวาส โดยจะมีพระสงฆ์จากเวียดนามร่วมทำพิธีปลุกเสกด้วย
โดยรายได้จากการให้เช่าบูชา คณะบุคคลคนไทยเชื้อสายเวียดนามจะนำมอบเป็นการกุศลร่วมสมทบทุนสร้างเจดีย์ 13 ชั้น เพื่อใช้ในการบรรจุหัวใจอมตะของพระโพธิสัตว์ ทิก กว๋าง ดึ๊ก พร้อมเป็นสถานที่ศึกษาธรรม ณ วัดเวียดนามกกตื้อ เมืองโฮจิมินห์ ซิตี้ ประเทศเวียดนาม และร่วมสมทบทุนมูลนิธิพระดาบส ในประเทศไทย
สำหรับ ผู้สนใจสามารถหาเช่าไว้บูชาได้หลังพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559 โดยผ่านคอลล์ เซ็นเตอร์ (Call Center) และวัดอนัมนิกาย (วัดญวน) 20 วัด ในประเทศไทย
นอกจากนี้ จะมีการเปิดแถลงข่าว การจัดสร้างพระเครื่อง พระโพธิสัตว์ ทิก กว๋างดึ๊ก ในประเทศเวียดนามเป็นลำดับต่อไปด้วย