กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--ทริปเปิล เจ คอมมิวนิเคชั่น
นายสมชาย สถากุลเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมานั้น ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะถูกลงอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาประกอบกับอัตราการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในภาพรวมของประเทศก็ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีการใช้พลังงานจากฟอสซิลในสัดส่วนร้อยละ 82 ส่วนที่เหลือเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานดั้งเดิม ทั้งนี้มีการใช้ในสาขาขนส่งมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 36.6 รองลงมาเป็นการใช้ในสาขาอุตสาหกรรม สาขาบ้านอยู่อาศัย สาขาธุรกิจการค้า และสาขาเกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 35.9 14.9 7.6 และ 5.0 ตามลำดับ
ดังนั้น การพัฒนาพลังงานในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ด้วยการจัดหาพลังงานให้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ มีเสถียรภาพด้วยการพัฒนาส่งเสริมแหล่งพลังงานรูปแบบต่างๆ ภายในประเทศมาทดแทนพลังงานที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการลดการสูญเสียพลังงานทุกขั้นตอน ไม่เพียงแต่จะเอื้อประโยชน์ต่อหน่วยงานเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย
บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด และบริษัท อินทรีอีโคไซเคิล จำกัด เป็น 2 หน่วยงานตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จด้านการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานทดแทนจนสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานและเพิ่มผลกำไรให้กับหน่วยงานได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ทั้ง 2 บริษัทคว้ารางวัล Thailand Energy Awards ประจำปี 2016
นายยอดชัย ไชยทัพ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ซึ่งคว้ารางวัลดีเด่นด้านอนุรักษ์พลังงาน ประเภทขนส่ง กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซอุตสาหกรรม (ออกซิเจน ไนโตรเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ และไฮโดรเจน) โดยยึดมั่นในนโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายให้พนักงาน ลูกค้า ตลอดจนสังคมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ด้วยความปลอดภัย มีการคิดค้นนวัตกรรมหรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปณิธานในการดำเนินงานขององค์กรที่ว่า "We make the world more productive, energy-efficient, and sustainable with infinite innovation from the air" ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้รับการยอมรับในความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้านก๊าซอุตสาหกรรมในระบบขนส่งทางท่อและทางรถบรรทุก ด้วยกำลังการผลิตก๊าซเหลวที่มากที่สุด ถังสำรองก๊าซเหลวที่ใหญ่ที่สุด ตลอดจนการบริหารการจัดส่งที่ทันสมัยโดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญจึงมีความปลอดภัยและวางใจได้
บริษัทฯ พัฒนาปรับปรุงระบบขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดผ่านโครงการ Step change ภายใต้ความร่วมมือของผู้บริหารจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ โดยมีทีมงาน Continuous Improvement (CI) คอยให้การสนับสนุน ใช้ระบบวางแผนบริหารการจัดส่งสินค้าในการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการจัดเที่ยวรถ เส้นทางเดินรถ และปริมาณการขนส่งก๊าซ รวมถึงนำระบบ BIG MOBY Application ที่ลูกค้าสามารถลงชื่อยืนยันการส่งสินค้าได้โดยตรง และช่วยให้พนักงานขับรถทราบแผนการจัดส่งล่วงหน้าและเส้นทางที่สั้นที่สุดในการส่งสินค้ามาใช้งาน นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานทั้งก่อนและหลังจัดส่งสินค้าโดยใช้ตัวชี้วัดที่จับต้องได้ เพื่อสามารถนำมาใช้ปรับปรุงการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีระบบบริหารพฤติกรรมเพื่อการขับขี่อย่างปลอดภัยภายใต้กฎระเบียบและมาตรการการตรวจสอบและควบคุมอย่างเคร่งครัดอีกด้วย
จากการดำเนินการโครงการ Step Change ในช่วงปี 2556-2558 มีแนวโน้มในการใช้ปริมาณน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของธุรกิจ แต่บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถส่งสินค้าได้มากขึ้น รถบรรทุกสินค้าเหมาะสมกับขนาดบรรทุก จำนวนเที่ยวและระยะทางในการขนส่งลดลง ส่งผลให้สามารถลดอัตราการใช้น้ำมันดีเซลลงได้กว่า 3 หมื่นลิตร หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 700,000 บาท
นายวินเซน อาลอยซีอุสประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ซึ่งคว้ารางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการพลังงานทดแทนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (Off-Grid) กล่าวว่า บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาปูนซีเมนต์และมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูงถึง 70% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้นจึงได้จัดตั้ง บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลิตเชื้อเพลิงทดแทนให้แก่บริษัทในเครือฯ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล ดำเนินธุรกิจด้านการจัดการกากของเสียแบบครบวงจรและการบริการภาคอุตสาหกรรม โดยรับกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ มาแปรสภาพและผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทนจากขยะที่เรียกกันทั่วไปๆ ว่า RDF (Refused Derived Fuel) ซึ่งมีค่าความร้อนสูงถึง 4,600 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัมได้ประมาณปีละ 15,000 ตัน ช่วยลดการใช้ลิกไนต์ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในเตาเผาปูนซีเมนต์ของกลุ่มบริษัทฯ ได้มากกว่า 17,000 ตันต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 25,000 ตัน CO2 ต่อปี
บริษัทฯ ใช้เงินลงทุนประมาณ 152 ล้านบาท เลือกจัดตั้งโรงงานใกล้แหล่งวัตถุดิบ คือ ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ก่อกำเนิดกากของเสียปริมาณมาก ทำให้มีต้นทุนในการขนส่งวัตถุดิบต่ำ และมีอัตราผลตอบแทนสูงถึงประมาณ 22% จึงคืนทุนภายในระยะเวลาประมาณ 6 ปี
ธุรกิจการให้บริการกำจัดกากของเสียแบบครบวงจรมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอุตสาหกรรมที่ยังคงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเลือกวิธีการกำจัดของเสียที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิง RDF ที่ผลิตขึ้น นอกจากนำไปใช้ในเตาเผาปูนซีเมนต์แล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนหรือเชื้อเพลิงเสริมในโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้าได้อีกด้วย