กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดผลสำรวจเรื่อง โพลปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศจำนวน 1,590 คน ระหว่างวันที่ 25 - 27 สิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.6 ระบุปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ในขณะที่เพียงร้อยละ 6.4 ระบุเลือกตั้งก่อน นอกจากนี้ เมื่อถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้าเลือกตั้งวันนี้ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.7 ระบุ บ้านเมืองจะขัดแย้ง วุ่นวาย ได้นักการเมืองเดิมๆ เข้ามา ในขณะที่ร้อยละ 13.3 ระบุบ้านเมืองจะเรียบร้อย ได้นักการเมืองชั้นดีเข้ามา
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.8 ระบุ ควรเว้นวรรค นักการเมืองที่ชอบ ยั่วยุ สร้างความขัดแย้งในสังคม เพราะ เบื่อการเมืองที่วุ่นวาย ต้องการนักการเมืองที่ไม่เป็นต้นเหตุขัดแย้งเสียเอง อยากเห็นนักการเมืองที่มุ่งทำบ้านเมืองสงบสุข ไม่กอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง อยากเห็นประเทศชาติเดินหน้าต่อก้าวไกลไปข้างหน้า และภาพความวุ่นวายของบ้านเมืองยังจำได้ติดตาม เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 4.2 ระบุไม่ควร เพราะควรปล่อยไปตามธรรมชาติ และเป็นความชอบส่วนตัวต่อนักการเมืองฝีปากกล้า เป็นต้น
เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.2 เห็นด้วย สนับสนุน เพราะ ไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต เอาจริงเอาจัง คุมสถานการณ์บ้านเมืองได้อยู่ จัดการเด็ดขาดกับข้าราชการนอกลู่นอกทางได้ ใช้มาตรา 44 ได้เกิดผลดี ขจัดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ดี มีความเป็นผู้นำมากกว่าเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในตอบนี้ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 12.8 ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน
ที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 เห็นด้วยต่อ การเพิ่มจำนวน สนช. เพื่อเร่งปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ในขณะที่ร้อยละ 31.1 ไม่เห็นด้วย
ผอ.สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล กล่าวว่า หากเปิดตำราสำรวจความนิยมของสาธารณชนต่อผู้นำประเทศในเวลานี้ จะพบว่า ความนิยมต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ใน โซน A เพราะมีค่าคะแนนสูงกว่าร้อยละ 80 ขึ้นไป ดังนั้น ถ้าจะมุ่งเน้นทำตามตำราในการรักษาฐานสนับสนุนเอาไว้ให้ยั่งยืนควรทำตามหลักการ "ไตรมิติ" (Triangulation) คือ มิติที่หนึ่งได้แก่ การรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดมาจัดระเบียบเพื่อการจัดสรรอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เอาตัวเองลงไปปนอยู่กับการเมือง มิติที่สองได้แก่ การออกกฎหมายและระเบียบต่างๆ ในการจัดสรรทรัพยาการ และมิติที่สามได้แก่ การจัดสรรทรัพยากรกระจายย้อนคืน (Redistribution) ไปให้ภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อล้ำ โดยไม่คำนึงถึงฐานเสียงทางการเมืองในลักษณะ "ภาคนิยม" อีกต่อไป
"หลายคนอาจมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มี "จุดอ่อน" ที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า จุดอ่อนที่หลายคนมองได้กลายเป็น "จุดแข็ง" มากกว่า เพราะอยู่เหนือผลประโยชน์ทางการเมือง ทำงานเพื่อประชาชนทั้งประเทศได้โดยไม่ต้องเลือกปฏิบัติเฉพาะฐานเสียงของพรรคการเมือง เพราะถ้านำตัวเองไปสวมบทนักการเมืองก็จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ และอาจจะกลายเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งเสียเองอันเป็นภาพในทางลบของบรรดานักการเมืองที่ตามหลอกหลอนความทรงจำของชาวบ้านส่วนใหญ่ทั้งประเทศในเวลานี้ กล่าวโดยสรุปคือ การมุ่งมั่นทำงานหนักต่อไปเหมือนที่ทำอยู่ในเวลานี้ น่าจะลอยลำอยู่ในความทรงจำที่ดีของสาธารณชนมากกว่า" ดร.นพดล กล่าว