กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--สนพ.
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ร่วมกำหนดกรอบทุนวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้มุ่งการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยยึดตามหลักนโยบาย Energy 4.0 ที่ พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบนโยบายไว้ ประกอบด้วย การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (SPP - Hybrid) การพัฒนาเมืองชุมชน สู่เมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) และ การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System)
ระบบกักเก็บพลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่ง เพราะแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) มีผลการดำเนินงานยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ สิ่งที่จะเสริมให้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนเดินหน้าได้รวดเร็ว คือ งานวิจัย ดังนั้น กองทุนฯ จึงได้เตรียมประกาศให้ทุนวิจัยในเรื่องระบบการกักเก็บพลังงาน เพื่อช่วยขยายผลในเรื่องของเทคโนโลยีและระบบการกักเก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพ โดยฝีมือคนไทย มีเป้าหมายของการนำไปใช้ได้จริงภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับพื้นที่ห่างไกล และขาดแคลนแหล่งพลังงานสำรอง ลดปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานทดแทน และรองรับนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) และ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน (SPP – Hybrid) ซึ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีการเก็บสะสมพลังงานที่มีประสิทธิภาพ และเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 ได้จัดให้มีงานสัมมนาเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อกรอบทุนวิจัย เรื่อง เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน ขึ้น โดยร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยได้เชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อนำข้อเสนอมาปรับปรุงให้ชัดเจน และเตรียมความพร้อมก่อนจะประกาศรับข้อเสนอในเดือนกันยายน 2559
เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เป็นการสนับสนุน ภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ 2559 จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้งานจริงของระบบกักเก็บพลังงาน ในเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ การลดพีคไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม สร้างความเสถียรภาพให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน พื้นที่ห่างไกล และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเกิดผลงานอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2560 เพื่อสร้างโอกาสด้านการตลาด กระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศ และเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่ที่ดีกว่า และ/หรือเทียบเท่าต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตในการพัฒนาเทคโนโลยีและทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานของประเทศไทยระยะ 20 ปี ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
"สำหรับโครงการเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานนี้ จัดทำขึ้นตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้มากขึ้น แต่เนื่องจากปัจจุบันยังติดปัญหาในเรื่องของการกักเก็บสำรองพลังงาน เช่น โซลาร์เซลล์ ติดปัญหาในการใช้ยามค่ำคืน หรือแม้แต่พลังงานลม ซึ่งหากมีการเพิ่มศักยภาพในส่วนนี้เข้าไป รวมถึงการขยายผลไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้ จะเป็นการพัฒนาการใช้พลังงานทางเลือกได้ตามเป้าหมาย คือ 30% ในปี 2579 เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคง และการสร้างเสถียรภาพในด้านพลังงานของไทย" ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม