กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· กสอ. พบ 3 อุตสาหกรรมขาดการใช้นวัตกรรมยกระดับธุรกิจ พร้อมเร่งอัดงบยกระดับผู้ประกอบการกว่า 850 ล้านบาท
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผยสถิติ 8 ปัญหาที่มีผลกระทบต่อการพัฒนา SMEs ไทย อาทิ ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัญหาด้านการผลิต ปัญหาด้านการตลาด เป็นต้น พร้อมกันนี้ กสอ. ยังได้เตรียมบูรณาการและปฏิรูปผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ 3S ได้แก่ Start Strong Sustain ผ่านโครงการประจำปี 2560 กว่า 30 โครงการ ด้วยงบประมาณรวมกว่า 850 ล้านบาท โดยตั้งเป้าในการพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 2,700 กิจการ / 13,000 ราย
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กสอ. ได้ดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมและพัฒนา SMEs ตลอดระยะเวลากว่า 74 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้ดำเนินการรวบรวมปัญหาที่พบในการประกอบธุรกิจจาก ผู้ประกอบการ 4,883 ราย สำรวจจากนักวินิจฉัยเฉพาะทาง ทั้งนี้ พบว่าสถิติที่น่าเป็นห่วง และพบบ่อยสำหรับผู้ประกอบการ มีด้วยกันทั้งหมด 8 ปัญหาใหญ่ เรียงลำดับดังนี้ 1.ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2.ปัญหาด้านการผลิต 3.ปัญหาด้านการตลาด 4. ปัญหาด้านการอยู่ร่วมกับสังคม 5. ปัญหาด้านการเงิน 6 ปัญหาด้านบุคลากร 7. ปัญหาด้านการจัดซื้อและปัจจัยการผลิต และ 8.ปัญหาด้านการบริหารองค์กรและกลยุทธ์
นายพสุ กล่าวต่อว่า ปัญหาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปัญหาด้านการผลิต และปัญหาด้านการตลาด ถือเป็นปัญหาที่ SMEs ไทยส่วนใหญ่ต้องเผชิญมากที่สุดตามลำดับ โดยอุตสาหกรรมที่มีอุปสรรคและผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมเซรามิกและแก้ว 2. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และ 3. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากไม้และเครื่องเรือน โดยทั้ง 3 อุตสาหกรรมดังกล่าว ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ไม่น้อย ซึ่งหาก SMEs ยังไม่สามารถปรับตัวหรือได้รับการพัฒนา ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงาน สัดส่วนการส่งออก และสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม ตามมาในระยะยาวได้ และ
ในทางกลับกันพบว่าอุตสาหกรรมที่มีที่มีอุปสรรคและปัญหาน้อยที่สุดในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยาง 2.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก และ 3.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่อุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ มีการปรับตัวที่ดีขึ้น และทำให้เห็นว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
นายพสุ กล่าวเพิ่มเติมว่า กสอ. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในปี 2559 – 2560 อันประกอบไปด้วย กลยุทธ์ 3S ได้แก่ Start Strong และ Sustain โดยกลยุทธ์ที่ 1 คือ Start จะมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ และกลุ่มสตาร์ทอัพ เพิ่มความเข้มแข็งแก่วิสาหกิจขนาดเล็กในช่วงก่อตั้งกิจการ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสร้างธุรกิจใหม่ให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจสากล โดย กสอ. ได้กำหนดให้โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ หรือ NEC , โครงการสร้างธุรกิจใหม่ หรือ NBC , รวมถึงโครงการพัฒนาผู้ประกอบการOTOP รุ่นใหม่ เพื่อรับหน้าที่ในการพัฒนาแนวคิดที่จะประกอบธุรกิจให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสร้างโอกาสการขยายธุรกิจให้กับผู้ที่มีความสนใจจะเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการเตรียมความพร้อมด้านความรู้ความสามารถและเพิ่มพูนทักษะในการประกอบธุรกิจ รวมถึงบ่มเพาะองค์ความรู้เพื่อให้สามารถจัดทำแผนธุรกิจอย่างละเอียด โดยตั้งเป้าผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ให้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 250 กิจการ / 5,200 ราย ในปี 2560 ด้วยงบประมาณกว่า 207 ล้านบาท
ในส่วนกลยุทธ์ที่ 2 คือ Strong หรือการสร้างความเข้มแข็ง กลยุทธ์นี้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามารถให้กับผู้ประกอบการรายเดิมที่กำลังดำเนินธุรกิจที่มีจำนวนกว่า 2.7 ล้านราย ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องของการปรับแผนธุรกิจและการเพิ่มขีดความสามารถ ภายใต้มาตรการในการแข่งขันตามนโยบายรัฐบาล โดยจะเน้นในภาคการผลิตและภาคบริการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการเพื่อให้สามารถเข้าสู่ การแข่งกันในตลาดการค้าสากล พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของไทยให้เป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังร่วมส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และมีความแข็งแกร่ง โดยเน้นการผลักดัน SMEs เพื่อการส่งออกสู่ระดับนานาชาติ รวมถึงตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลเรื่องอุตสาหกรรม S-CURVE และ NEW S-CURVE โดย กสอ. มีโครงการที่สอดรับกับกลยุทธ์นี้หลากหลายโครงการ อาทิ โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน หรือ MDICP, การเพิ่มผลิตภาพ SMEs ภาคอุตสาหกรรม, การยกระดับกระบวนการผลิตสินค้า OTOP ด้วยเทคโนโลยี , การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมรายสาขา ฯลฯ ทั้งนี้ กสอ. ได้ตั้งเป้าหมายในการผลักดันให้เห็นผลสัมฤทธิ์ไม่น้อยกว่า 1,600 กิจการ / 7,200 ราย ในปี 2560 ด้วยงบประมาณกว่า 513 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ที่ 3 ได้แก่ Sustain จากกระแสการพัฒนายุคโลกาภิวัฒน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การเติบโตทางการผลิตส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม กลยุทธ์นี้จึงเป็นการผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาด้านการแข่งขันในระดับโลกอย่างยั่งยืน กล่าวคือ ส่งเสริมให้มีการบูรณาการการผลิต โดยนำ
ระบบการจัดการที่ดี มาใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนา เน้นการสร้างผลประโยชน์จากทรัพยากรและพลังงานให้มากที่สุด แต่ยังคงระดับทรัพยากรที่มีอยู่ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมน้อยที่สุด นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อสังคม โดยทาง กสอ.มีโครงการเพื่อส่งเสริมและสอดรับกับยุทธศาสตร์ Sustain อาทิ การส่งเสริมเครือข่ายและการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในรูปแบบคลัสเตอร์ , การพัฒนาการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม , การพัฒนาปัจจัยที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าการพัฒนาและการบูรณาการในกลยุทธ์นี้จะสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวได้มากถึง 870 กิจการ / 650 ราย ด้วยงบประมาณกว่า 130 ล้านบาท
จากการที่สภาวะทางเศรษฐกิจและกระแสสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลง ทุกภาคส่วนของSMEs จึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยทาง กสอ.ได้มุ่งหวังให้กลุ่มผู้ประกอบการ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เพื่อก้าวสู่การเป็น SMEs ที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความสมบูรณ์แบบ ตลอดจนมีความสามารถในการกระตุ้นตนเองเพื่อการแข่งขันในตลาดธุรกิจสากล โดยคุณลักษณะดังกล่าวเรียกว่า STICK ซึ่งประกอบไปด้วย มีความรู้ด้าน Science มีการนำ Technology มาใช้เพื่อประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการด้วย Innovation ตลอดจนมี Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ และสุดท้ายต้องมี Knowledgeเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างทันท่วงที และเพื่อให้ SMEs มีศักยภาพ และมีภูมิคุ้มกันในยุคที่เศรษฐกิจมีความผันแปร กสอ. ยังคงเร่งเดินเครื่องพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งให้กับ SMEs ไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยวิสัยทัศน์ของความเป็นเพื่อนแท้ผู้ประกอบการ เพื่อสะท้อนการดำเนินงานของ กสอ. ที่เป็นหน่วยงานที่ "รู้จริง" "แก้จริง" "เติบโตจริง" และอยู่เคียงข้าง SMEs ไทยเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเติบโตอย่างยั่งยืน นายพสุ กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 – 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม call center 1358 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr