กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--Image Line Advertising
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พัฒนาเครือข่ายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ครอบคลุมทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์ การแจ้งเตือนภัย การเผชิญเหตุ การกู้ชีพกู้ภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)"
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สาธารณภัยมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น การเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถือเป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือและลดผลกระทบจากสาธารณภัยที่มีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จึงได้พัฒนาเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้ทำหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ ในด้านต่างๆ ทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์ การแจ้งเตือนภัย การเผชิญเหตุ การกู้ชีพกู้ภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย
1.อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ทำหน้าที่สนับสนุนภาครัฐในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ครอบคลุมทั้งการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ การเผชิญเหตุ การกู้ชีพกู้ภัย และการอพยพประชาชน
2.ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) เป็นหน่วยเผชิญเหตุเบื้องต้นในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นชุดปฏิบัติการกู้ชีพ กู้ภัย ค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามหลักวิชาการ
3.เครือข่ายอาสาสมัคร (มิสเตอร์เตือนภัย) เป็นเครือข่ายแจ้งเตือนภัยในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่เฝ้าระวัง แจ้งเตือนและประสานการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
4.ชุมชนเข้มแข็งจัดการภัยพิบัติยั่งยืน โดยนำแนวคิดการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐานมาปรับใช้ เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงสภาพความเสี่ยงภัยและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสาธารณภัย
ทั้งนี้การเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถือเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินการป้องกันภัยเชิงรุก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย นับเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้วาระ "ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)"