กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์เดินหน้าตั้งธนาคารสินค้าเกษตรในสถาบันเกษตรกรครบ 100 % ตามเป้าหมาย 6 แผนงาน มีทั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว ธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกร ธนาคารโคนมทดแทน ธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามโครงการพระราชดำริ ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์และธนาคารปลานิลพันธุ์ดี พร้อมขยายผลจัดตั้งธนาคารปัจจัยการผลิตหม่อนไหมเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและอุทัยธานี เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร
ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการธนาคารสินค้าเกษตร ซึ่งได้กำหนดแผนการดำเนินงานไว้ 6 แผนงาน ได้แก่ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว ธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกร ธนาคารโคนมทดแทน ธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามโครงการพระราชดำริ ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ธนาคารปลานิลพันธุ์ดี ทั้ง 6 แผนงาน ขณะนี้ได้ดำเนินการตามเป้าหมายครบ 100 % โดยธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ได้ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน คัดเลือกสหกรณ์ต้นแบบ 12 แห่ง ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก 13,150 ตัน ใช้ในการบำรุงดินในพื้นที่ 6,577 ไร่ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ 714,200 ลิตร ใช้ในพื้นที่ 15,710 ไร่ และผลิตปุ๋ยพืชสด 466 ตัน ใช้ในพื้นที่ 58,250 ไร่
สำหรับธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กำหนดแผนงานบริหารจัดการโค-กระบือ ใน 73 จังหวัด มอบสิทธิ์ให้เกษตรกร 5,000 ราย จำนวน 109,000 ตัว ขณะนี้ได้ดำเนินการมอบสิทธิ์บริหารจัดการโค-กระบือไปแล้ว 7,880 ราย คิดเป็น 157.60% ของเป้าหมาย และมีแผนจะขยายผลการจัดตั้งธนาคารโค-กระบือให้ครบทั้ง 77 จังหวัด และจะบริการเกษตรกรรายใหม่และส่งมอบโคกระบือให้แก่เกษตรกรอีกจำนวน 12,131 ราย ส่วนธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้ร่วมกับกรมการข้าว คัดเลือกพื้นที่ดำเนินการในชุมชน 70 แห่ง สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวตั้งต้นให้ชุมชนละ 5 ตัน รวม 100 ตัน และจะมีการขยายผลจัดตั้งธนาคารเกษตรเพื่อชุมชน จำนวน 3 แห่ง โดยมีเกษตรกรเข้าร่วม 30 ราย และอยู่ระหว่างการเสนอขอรับรองข้าวมะลิอินทรีย์
นอกจากนี้ ยังมีธนาคารโคนมทดแทน จัดตั้งในสหกรณ์ 3 แห่งในจังหวัดพัทลุง เชียงใหม่และอุตรดิตถ์ มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 299 ราย มีบริการรับฝากโคนม 611 ตัว มูลค่า 8.78 ล้านบาท มีการถอนคืนโคนมไปแล้ว 96 ตัว มูลค่า 3.51 ล้านบาท และยังมีธนาคารข้าวในสถาบันเกษตรกร โดยได้คัดเลือกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 10 แห่ง ในจังหวัดร้อยเอ็ด นครราชสีมา เพชรบุรี สุรินทร์ เชียงใหม่ ตราด น่าน และอุทัยธานี ส่งเสริมการให้บริการกู้ยืมปัจจัยการผลิตสำหรับนำไปใช้ในฤดูกาลปลูกข้าว ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืช เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะนำมาขายให้กับสหกรณ์และหักค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมปัจจัยการผลิตกับทางสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ 577 ราย ส่วนธนาคารปลานิลพันธุ์ดี ได้ร่วมกับกรมประมง ได้จัดตั้งศูนย์ปลานิลพันธุ์ดีและสนับสนุนพันธุ์ปลานิลพันธุ์ดีให้สถาบันเกษตรกร 8 แห่ง จำนวน 15,000 ตัว พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้แก่สมาชิกสหกรณ์ในการเลี้ยงปลานิลให้ได้คุณภาพจำนวน 160. ราย
"ระยะต่อไปจะมีการขยายผลโครงการธนาคารสินค้าเกษตรเพิ่มเติมจาก 6 แผนงานเดิม โดยขณะนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์มีแนวคิดที่จะเพิ่มธนาคารปัจจัยการผลิตหม่อนไหม เข้าเป็นหนึ่งในแผนงานของโครงการธนาคารสินค้าเกษตรด้วย โดยจะร่วมบูรณาการกับกรมหม่อนไหมในการดำเนินโครงการดังกล่าว และขณะนี้ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายที่จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดอุทัยธานี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการการผลิตเส้นไหม และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันด้านการผลิตผ้าไหมให้เป็นที่ยอมรับของตลาดมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว