แพทย์แนะรับประทานถั่ว ปลา ผัก ผลไม้ ออกกำลังกายป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2000 14:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--โรงพยาบาลราชวิถี
แพทย์แนะออกกำลังกาย รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะถั่ว ปลา ผัก ผลไม้ ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแดงที่หัวใจตีบหรือโรคหัวใจขาดเลือดได้ ปัจจัยเสี่ยงโรคนี้คือ ไขมันในเลือดผิดปกติ สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน นอกจากนี้คนสูงอายุเพศชาย และหญิงวัยหมดประจำเดือน รวมถึงครอบครัวที่มีประวัติมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้สูง
ทั้งนี้ โรคหัวใจขาดเลือด พบมากในประเทศทางตะวันตก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีคนเป็น โรคนี้มากและมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายอย่างเฉียบพลันประมาณปีละ 1.5 ล้านคน สำหรับคนไทยสถิติ การเกิดโรคนี้มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน และมีผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจวายอย่างเฉียบพลันนอนรับการรักษา ในห้องไอซียูตลอดเวลา และล่าสุดกลุ่มอายุที่เป็นเริ่มมีอายุน้อยลง
พ.ญ.วิไล พัววิไล อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า การออกกำลังกายจะช่วยแก้ปัญหาโรคนี้ได้อย่างดี เพราะในช่วงที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะผลิตสารที่เป็นไขมันชนิดดี ที่เรียกว่า HDL ให้สูงขึ้นมาแทรกไขมันชนิดเลว และทำหน้าที่ขับไล่ไขมันชนิดเลวออกไปจากร่างกาย นอกจากนี้ การระมัดระวังเรื่องของอาหารก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง งดไขมันอิ่มตัวคือพวกที่เก็บไว้ในตู้เย็นแล้ว มีไขมันจับตะกอน น้ำมันหมู ไข่แดง ต้องหลีกเลี่ยงหรืองดให้ได้ อาหารที่ควรรับประทานคือ อาหารประเภท ถั่ว ปลา ผัก ผลไม้
สิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันจะเห็นว่าอัตราการเกิดโรคนี้โดยปกติจะเกิดในกลุ่มคนสูงอายุ หรือที่มีอายุ 40-45 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่าในโรงพยาบาลราชวิถีมีคนไข้โรคนี้มารับการรักษาอายุน้อยที่สุดคือ 28 ปี และกลุ่มอายุ 30 ปีเศษก็เริ่มพบมากขึ้น เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ในกรณีของอาหารที่มีการโฆษณา กันว่าดี สามารถช่วยลดคลอเรสเตอรอลได้ ตรงนี้ทางการแพทย์ยังไม่เคยมีการพิสูจน์ได้ รวมถึงวิตามินอี ที่มีการพูดกันว่าสามารถช่วยต้นอนุมูลอิสระ เรื่องนี้มีการพูดกันบนเวทีการประชุมใหญ่วิชาการที่เมือง บาเซโรน่าเมื่อปีที่แล้ว สรุปว่าวิตามินอีไม่ช่วยแก้ปัญหาโรคนี้
อาการสำคัญของโรคนี้คือ อาการเจ็บหน้าอก ทำงานแล้วเหนื่อย โดยเฉพาะในคนที่อายุเกิน 40 ปี ต้องระวังหากมีอาการเจ็บหน้าอกจะต้องรีบไปตรวจร่างกายโดยด่วน อย่ารอให้ก้อนไขมันไปตกตะกอนอย่างถาวรในเส้นเลือด หากมีอาการ สามารถบอกกับแพทย์เพื่อขอรับการตรวจหาไขมันในเส้นเลือดได้ ในสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยอดอาหารมาก่อนตรวจ 12 ชั่วโมง เพราะหมอต้องดูไตรกลีเซอไรด์ แต่ถ้าดูไขมันในเส้นเลือดอย่างเดียวก็ไม่ต้องอดอาหาร อย่างไรก็ตาม คนที่เป็นโรคนี้แล้วขอให้หลีกเลี่ยงภาวะเครียดด้วย เพราะภาวะเครียดจะเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเส้นเลือดแตกได้--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ