กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--Nanmeebooks
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ด้วยการลงมือทดลองด้วยตัวเอง (Hands-on) นอกจากเด็กๆ หรือแม้แต่คุณครู จะสนุกแล้ว ยังเข้าใจและจดจำได้ไม่มีวันลืม แต่จะดีแค่ไหนหากเราเปลี่ยนการทดลองวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่ายที่ทำได้ในชีวิตประจำวันและยังสนุกสนาน และเรียนรู้การประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน
ล่าสุดบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ร่วมกับ สถาบันนานมีบุ๊คส์ อินโนเวชั่น และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย จัดกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน ได้เรียนรู้และสนุกกับการค้นหาคำตอบด้วยการทดลองแบบ Hands-on ณ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และจัดอบรมครูวิทยาศาสตร์ระดับอนุบาลและประถมศึกษา หัวข้อ "วิทยาศาสตร์ Hands-on สอนวิทย์ให้สนุกด้วยการทดลอง" ณ อาคารนานมีบุ๊คส์เฮาส์ สุขุมวิท 31 โดยวิทยากร โจอาคิม เฮกเกอร์ (Joachim Hecker) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอนวิทยาศาสตร์ จากประเทศเยอรมนี และเจ้าของผลงานเขียนเรื่อง บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย, 50 ทดลองวิทย์ในชีวิตประจำวัน และทดลองวิทย์รอบรู้ธรรมชาติ เล่ม 1, เล่ม 2
กิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน มีคณะครูและนักเรียนชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดา และโรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เข้าร่วมกิจกรรม เด็กๆ ได้สนุกและลงมือทดลองวิทยาศาสตร์แสนสนุก เรื่อง "มอเตอร์แสนอร่อย" และ"หิมะง่ายๆ ทำได้เอง"
น้องมะนาว หรือเด็กหญิงญาณกร ศรีอยู่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า "กิจกรรมสนุก ได้รู้จักภาษาเยอรมันและก็ได้ลงมือทดลองวิทยาศาสตร์ ปกติชอบวิชาวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว พอได้มาทดลองแบบนี้เลยยิ่งสนุก โรงเรียนก็มีการทดลองแบบนี้แต่ไม่สนุกเท่านี้ ได้รู้จักการหดตัวของพลาสติกและโฟม การกระจายความร้อนของการเอาไฟแช็กมาจุดใต้ลูกโป่ง ได้รู้ว่าเปลือกช็อกโกแลตก็มีประโยชน์เหมือนกัน ไม่ใช่ใช้แล้วทิ้งเลย เปลือกของมันเอามาทำแม่เหล็กได้ ถ้ามีกิจกรรมแบบนี้ก็อยากมาอีก"
ส่วนการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับครูวิทยาศาสตร์ หัวข้อ "วิทยาศาสตร์ Hands-on สอนวิทย์ให้สนุกด้วยการทดลอง" มุ่งเน้นการช่วยเพิ่มทักษะและเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์ให้สนุกตื่นเต้นด้วยการทดลอง โดยเน้นกระบวนการคิด สาธิตการใช้สื่ออุปกรณ์ แนะวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การค้นหาคำตอบด้วยตนเองผ่านการทดลอง และการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยจัดให้ครูได้ลงมือทดลองในหลายหัวข้อ เช่น เครื่องสร้างหมอก, ไข่ไก่ของโคลัมบัส, หลอดส่งเสียง, จอกน้ำของพีทาโกรัส, การทดลองบ้านเจ็บเท้า เป็นต้น
โจอาคิม เฮกเกอร์ กล่าวถึงความแตกต่างของการเรียนการสอนแบบ Hands-on ว่า "การเรียนรู้แบบ Hands-on มีประโยชน์ตรงที่เราสามารถทำที่ไหนก็ได้ ทำเมื่อไหร่ก็ได้ และใช้อุปกรณ์ในชีวิตประจำวันที่เรามองเห็นหรืออยู่รอบตัวเรา โดยศึกษาความเป็นไปตามกฎของธรรมชาติ การเรียนการสอนเป็นแบบทางการจะทำการทดลองก็ต้องใส่แว่น ใส่ชุดกาวน์สีขาว แต่ถ้าเป็นแบบHands-on จะใส่ชุดอะไรก็ได้ ใช้วัสดุที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันทำได้เลย สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเราได้ แสดงให้เห็นว่า วิทยาศาสตร์ 99 เปอร์เซ็นต์อยู่ในชีวิตประจำวันหรือไม่ก็อยู่ในตัวเราด้วย มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะอยู่ในห้องทดลอง เราต้องเอาวิทยาศาสตร์ออกมาจากห้องทดลองให้มาอยู่ในชีวิตจริงของเรา อย่างผ้าอ้อมธรรมดาก็มีวิทยาศาสตร์อยู่ในนั้นเยอะมาก มันไฮเทคขนาดไหน ขนาดนักบินอวกาศยังต้องใช้มันเลย แสดงว่าไม่มีวัสดุอื่นที่ดีกว่านี้ มันไฮเทคทั้งๆ ที่เด็กบ้านเราก็ใช้"
โจอาคิม กล่าวเสริมถึงหลักการสำคัญของวิทยาศาสตร์ว่า "ผมเชื่อจริงๆ ว่าการทดลองแบบ Hands-on ที่ให้เด็กทำได้จริงเป็นหัวใจของวิทยาศาสตร์ เพราะเด็กจะรู้สึกสนใจ เมื่อเด็กสนใจก็อยากเรียนรู้ทฤษฎีง่ายๆ หัวใจของวิทยาศาสตร์คือเรื่องสนุก พูดได้ว่า หากเราไม่รู้วิทยาศาสตร์ เราจะพลาดอะไรบางอย่างในชีวิตไป จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์สำคัญพอๆ กับภาษา วัฒนธรรมหรือการเมือง"
การอบรมครั้งนี้มีครูวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ คุณครูวรางค์รัตน์ ชายทวีปครูชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครราชสีมา กล่าวถึงการเรียนรู้ในการอบรมครั้งนี้ว่า "ชอบการทดลองเรื่องของหิมะ แม้ว่าจะดูเป็นการทดลองที่ไกลตัว แต่เด็กจะจินตนาการได้ไกลมาก เพราะว่าสารเคมีที่ใช้ ก็ใช้แค่อย่างเดียว มีน้ำ และความเร็ว และอีกเรื่องที่ชอบ คือเรื่องดูดซับน้ำ เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา เพราะเราก็ใช้แพมเพิสกับเด็กและผู้ใหญ่อยู่แล้ว สามารถนำสื่อที่อยู่ใกล้ตัวมาปรับใช้ในการเรียนการสอนได้ ถ้าเรายืนสอนอยู่ในห้องเรียนห้องสี่เหลี่ยมก็จะเหมือนในโรงเรียน แต่ของครูจะเป็นกิจกรรมที่ต้องเน้น Hands-on มากๆ เนื่องจากเป็นการศึกษานอกระบบ จะมีทั้งนักศึกษาและประชาชน เขาต้องการลงมือปฏิบัติ"
คุณครูอนิศา กิจบุญชู ครูประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษา โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ กล่าวถึงความเกี่ยวข้องของวิชาวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันว่า "การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สนุก ได้ทดลองด้วย และทำให้เข้าใจชีวิตด้วย เด็กๆ มักถามว่าเรียนแล้วเอาไปทำอะไร จริงๆ ที่เรียนไปสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่เขาไม่ได้มองว่ามันใช้ได้จริงแค่ไหน อย่างเช่นเรื่องสสาร เขาก็เจอทุกวันแต่เขาไม่รู้ว่ามันคือวิทยาศาสตร์ การทดลองที่ทำกันวันนี้ส่วนใหญ่เด็กก็จะเจอในชีวิตประจำวัน อย่างแป้งข้าวโพด เขาก็เจอแต่ไม่รู้ว่ามันเป็นวิทยาศาสตร์ มันนำไปใช้ได้ ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ถ้าเราลองนำมาวิเคราะห์แต่ละอย่างก็เป็นวิทยาศาสตร์หมด เริ่มตั้งแต่แสงแดดออกมันก็เป็นวิทยาศาสตร์แล้ว จนถึงพระอาทิตย์ตก ทุกอย่างในชีวิตประจำวันเราก็ต้องใช้วิทยาศาสตร์ทั้งหมด"
การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำและค้นหาคำตอบด้วยตนเองมีความสำคัญช่วยจุดประกายและต่อยอดการเรียนรู้แบบไม่รู้จบ หากครูผู้สอนนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Hands-on ไปปรับใช้ในห้องเรียนได้ เด็กๆ คงสนุกและรักที่จะเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน