กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เป็นประธานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้แก่เกษตรกรจำนวน 48 ราย พร้อมให้ขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน ส.ป.ก.ในการขับเคลื่อนโครงการพิเศษด้านความมั่นคงฯ "บ้านประชารัฐร่วมใจ1 และ 2" ณ บ้านบาเฆะ และบ้านบือราเปะ ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส
นางเปรมจิต สังขพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ส.ป.ก.ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการพิเศษด้านความมั่นคงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ณ จังหวัดนราธิวาส โดยร่วมมือกับกองทัพภาคที่ 4 จังหวัดนราธิวาส และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ที่ส่งผลให้บ้านเรือนของราษฎรในพื้นที่บ้านบาเฆะ (หมู่ที่ 1 และ หมู่ที่ 2) และบ้านปูลาวังยาเงาะ (หมู่ที่ 13) ต.โคกเคียน ได้รับความเสียหาย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 50 หลังคาเรือน ส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่งดังกล่าว โดยจัดซื้อที่ดินจากเอกชนจำนวน 2 แปลง คือ ที่ดินแปลงที่ 1 ตั้งอยู่ที่บ้านบาเฆะ (บ้านประชารัฐ ร่วมใจ 1) เนื้อที่ 5-2-33 ไร่ จัดที่ดินให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 22 ราย รายละ 80 ตรว. ซึ่งปัจจุบันที่ดินแปลงที่ 1 ได้ก่อสร้างบ้านเรือน สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า ระบบประปาเสร็จเรียบร้อย พร้อมได้มอบที่ดินและบ้านให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยแล้ว ที่ดินแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ที่บ้านบือราเปะ (บ้านประชารัฐร่วมใจ 2)เนื้อที่ 93-0-03 ไร่ จัดสรรให้กับผู้ประสบภัย 28 ราย รายละ 1 ไร่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง
ในส่วนของที่ดินที่นำมาจัดให้กับผู้ประสบภัยซึ่งเป็นที่ดินเอกชนที่ส.ป.ก.ใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจัดซื้อมา การจัดให้เกษตรกร หรือการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ จะเป็นการให้เช่า หรือเช่าซื้อ ซึ่งจะคิดอัตราค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอิงตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ โดยในที่ดินแปลงที่ 1 บ้านบาเฆะ ราคาประเมินอยู่ที่ไร่ละ 310,000 บาท ต้องเสียค่าเช่า 60 บาทต่อปี (ต่อพื้นที่ 80 ตารางวา) ส่วนแปลงบ้านบือราเปะ ราคาประเมินอยู่ที่ไร่ละ 220,000 บาทต่อไร่ จะต้องเสียค่าเช่า 300 บาทต่อไร่ต่อปี แต่ในเบื้องต้น ผู้ประสบภัยฯ ขอเช่าที่ดินไปก่อนเป็นเวลา 3-4 ปี หากมีความพร้อมหรือมีรายได้เพียงพอจึงเปลี่ยนเป็นเช่าซื้อต่อไป
นอกจากนี้ ได้มีการสนับสนุนแผนการผลิตและส่งเสริมอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้แก่ แผนการดำเนินงานของแปลงที่ดินครัวเรือนละ 80 ตารางวา (ประชารัฐร่วมใจ 1) จัดเป็นที่อาศัย 30 ตารางวา ที่ประกอบเกษตรกรรมและอื่นๆ 50 ตารางวา
แบ่งออกเป็น ที่อาศัย 30 ตารางวา ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย การทำบูดู การแปรรูปสัตว์น้ำจากการทำประมงชายฝั่ง และ ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 50 ตารางวา ประกอบด้วย การปลูกผักตามฤดูกาล การปลูกผักสวนครัวเพื่อการยังชีพและจำหน่ายในชุมชน แผนการดำเนินงานของแปลงที่ดินครัวเรือนละ 1 ไร่ (ประชารัฐร่วมใจ 2) จัดเป็นที่อยู่อาศัย 30 ตารางวา ที่ประกอบเกษตรกรรมและอื่นๆ 370 ตารางวา แบ่งเป็น ที่อาศัย 30 ตารางวา ประกอบด้วยบ้านพักอาศัย การทำบูดู การแปรรูปสัตว์น้ำจาการทำประมงชายฝั่ง และ ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 370 ตารางวา ประกอบด้วย การปลูกผักตามฤดูกาล การปลูกผักสวนครัว การปลูกอ้อยคั้นน้ำ การเลี้ยงไก่ หรือเลี้ยงเป็ด และเลี้ยงแพะ เพื่อการยังชีพและจำหน่ายในชุมชน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ เชื่อว่า จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ในระยะยาว และยังสนับสนุนให้ประชาชนมีที่ดินเพื่อประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงละยั่งยืน