กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--สามพราน ริเวอร์ไซด์
จากจุดเริ่มต้นที่เปี่ยมด้วยความเชื่อมั่นและพลังศรัทธา เพื่อนำเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ภายใต้โครงการสามพรานโมเดล ให้สามารถก้าวข้ามวิถีชีวิตแบบพึ่งพาสารเคมีมาทำเกษตรระบบอินทรีย์เมื่อห้าปีก่อน สู่รูปธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติ เกิดเครือข่ายมากมาย เกิดแปลงกุหลาบมอญอินทรีย์ในสวนสามพราน เกิดตลาดสุขใจ และเกิดแปลงพืชผัก สวนผลไม้อินทรีย์ หลายแห่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม และใกล้เคียง เหล่านี้ล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการทำเกษตรระบบอินทรีย์นั่นเอง
วันนี้โจทย์ท้าทายของ โครงการสามพรานโมเดล และ อรุษ นวราช ผู้ริเริ่มและเป็นผู้นำในโครงการนี้ก็คือความยั่งยืนของโครงการ จึงเป็นที่มาของความพยายามหยั่งรากลึกสร้างความเชื่อมั่นศรัทธา ให้กับพนักงานของสวนสามพราน รวมทั้งเกษตรกรในเครือข่าย โดยการนำแกนนำสำคัญกว่า 160 คน ลงพื้นที่ ศูนย์พันพรรณ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ไปร่วมกิจกรรม "เปิดโลก เรียน - รู้ วิถีพึ่งตนเอง กับ โจน จันใด"
คุณอรุษ นวราช ผู้บริหารสวนสามพราน และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ บอกว่า โครงการสามพรานโมเดล มีวัตถุประสงค์ในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อินทรีย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สู่การบริโภควิถีอินทรีย์ อันเป็นวิถีไทยมาช้านานให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ได้ก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว ซึ่งการขยายแนวคิด พื้นที่ และตลาดออกไปในวงกว้าง หัวใจสำคัญรากฐานที่มีอยู่จะต้องแข็งแกร่ง คือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะคีย์แมนสำคัญ เช่นผู้จัดการโครงการ หัวหน้ากลุ่มเกษตร ทายาทคนรุ่นใหม่ของเกษตรกร รวมถึงผู้บริหาร พนักงานของโรงแรม จะต้องมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในวิถีอินทรีย์ และตระหนักในการพึ่งตนเอง ด้วยตัวของเขาเอง
ทางลัดหนึ่ง ก็คือ เราต้องหยุดเรื่องปลูก เรื่องขาย และเรื่องอื่นๆ ไว้ชั่วคราว แล้วพาทุกคนลงไปเปิดโลกเรียนรู้ สัมผัสวิถีชีวิตคนที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง ซึ่งหนึ่งคนต้นแบบ ที่ได้รับการยอมรับ และให้คำตอบในเรื่องเหล่านี้ได้ดีที่สุด นั่นก็คือ คุณโจน จันใด ซึ่งเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กว่า 14 ปี ที่เขาละทิ้งกรุงเทพฯ กลับไปพิสูจน์ความเชื่อตัวเอง ด้วยการหันมาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เหมือนที่ตัวเขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก เริ่มที่ลงมือทำนา ปลูกผัก ผลไม้อินทรีย์ พร้อมเก็บเมล็ดพันธุ์ และสร้างบ้านดินด้วยตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับครอบครัวเล็กๆ ท่ามกลางความกังขาของคนที่เห็นต่าง จนนำมาสู่การก่อตั้ง ศูนย์พันพรรณ ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้พึ่งพาตนเองและศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และใช้ศูนย์แห่งนี้เป็นสถานที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวิถีพึ่งตนเอง ที่แต่ละปีมีคนไทย และชาวต่างชาติ แวะเวียนเข้ามาค้นหาแรงบันดาลใจอย่างไม่ขาดสาย
"คุณโจน เป็นต้นแบบของการพึ่งพาตัวเองที่ดี และมีคอนเซ็ปต์เดียวกับสามพรานโมเดลด้วย คือเน้นเรื่องปัจจัยสี่ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างภาคปฏิบัติในการสร้างฐานต้นน้ำที่เข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของวิถีเกษตรอินทรีย์และการพึ่งพาตนเอง ส่วนสามพรานโมเดลจะเชื่อมโยงเครือข่าย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไปพร้อมๆ กัน" คุณอรุษ ให้เหตุผลในการนำพนักงานและเกษตรกรไปเรียนรู้วิถีพึ่งตนเองกับคุณโจน
คุณอรุษ ยังบอกอีกว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้ทุกคนเริ่มเข้าใจถึงเหตุและผลว่าทำไมสวนสามพราน ถึงต้องเน้นเรื่องนี้ ผมอยากให้ทุกคนเข้าใจด้วยตนเองว่า เกษตรอินทรีย์ต้องเริ่มต้นจากตัวเองก่อน เมื่อไหร่ที่เขาได้สัมผัส ได้ลงมือทำให้เกิดผลกับตัวเอง จนรู้สึกได้ว่าเกษตรอินทรีย์มันดีต่อสุขภาพ อย่างพนักงานมาทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ ก็ต้องมาเพราะอยากทำ ศรัทธาที่จะมีส่วนร่วมด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่มาเพราะบริษัทบอกให้ทำ สำหรับสิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะทุกคนเริ่มเข้าใจว่า บริษัทกำลังทำอะไรอยู่ ส่วนเกษตรกรก็จะเริ่มศรัทธาในศักยภาพ และความสามารถในการพึ่งพาตนเองของพวกเขา ซึ่งเมื่อเขาแข็งแรง เขายังเป็นที่พึ่งของผู้บริโภคได้อีกมากมาย
และที่สำคัญเรามุ่งหวังให้เกษตรกรเข้าใจความหมายของคำว่า "พึ่งพาตนเอง" เพราะเกษตรกรถือเป็นหัวใจหลักของโครงการ พวกเขามีองค์ความรู้ในการทำเกษตร มีตลาดที่โครงการช่วยเชื่อมให้ แต่ผมอยากเห็นทุกคนเข้าใจวิถีของเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริง ซึ่งเริ่มจากการพึ่งพาตัวเองก่อน คือ มีกิน มีใช้ ภายในครอบครัวก่อน ที่เหลือแล้วจึงขาย แต่นี่บางคนผลิตเพื่อหวังขายอย่างเดียว ส่วนที่จะกินเอง กลับไปซื้อจากตลาด ซึ่งมันไม่ใช่วิถีและถือเป็นความเสี่ยงต่อความยั่งยืน
สำหรับกิจกรรม "เปิดโลกเรียน-รู้วิถีพึงตนเองกับคุณโจน จันได" จัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม ที่ผ่านมา แบ่งการอบรม 4 รุ่นด้วยกัน รุ่นละ 40 คน ประกอบด้วยพนักงาน 2 รุ่น เกษตรกร 2 รุ่น แต่ละรุ่นต้องใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นเวลา 3 คืน 4 วัน ภายใต้ คอร์สพึ่งตนเอง โดยคุณโจน และเจ้าหน้าที่ของศูนย์พันพรรณจะเป็นผู้ถ่ายทอดความผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ ซึ่งล้วนสื่อความหมายของการพึ่งพาตนเอง อาทิ การทำแปลงปลูกผัก การทำปุ๋ยหมัก การเพาะเมล็ดพันธุ์ รวมถึงการคัดเลือก การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ โดยกิจกรรมไฮไลต์ ของคอร์สนี้ คือการร่วมกันทำบ้านดิน ที่ซ่อนความหมายของการพึ่งพาตนเองไว้ได้อย่างแยบยล และคำพูดหนึ่งของคุณโจน จันได ทีสร้างความประทับใจและจุดประกายความตระหนักถึงคุณค่าความสุขและความยั่งยืน จากการพึ่งพาตนเองได้อย่างมากมายก็คือ "ชีวิตเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เราทำให้มันยากเอง" ซึ่งนิยามนี้ก็ไม่ต้องอธิบายให้มากความ
แม้การลงพื้นที่สั้นๆ เพียงแค่ 4 วัน แต่จากความมุ่งมั่นตั้งใจ หัวใจที่เปิดกว้าง และความศรัทธา ใน คุณอรุษ นวราช ผสานกับความเชื่อ ในวิถีของ คุณโจน จันได ก็ได้ปลุกให้ ทั้งพนักงาน และเกษตรกร เกิดความเชื่อความศรัทธาในวิถีอินทรีย์ และวิถีการพึ่งตนเองได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
คุณชนิญาดา รักสะอาด สมาชิกกลุ่มป่าละอูเป็นสุข หนึ่งในเกษตรกรเครือข่ายของโครงการ ที่มีโอกาสเดินทางไกลไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เผยความรู้สึกให้ฟังว่า ปกติตัวเขาเองก็อยู่แต่ในสวนในไร่ คิดเองทำเอง ปลูกเองหวังขายหาเงินให้ได้เยอะที่สุด เพื่อนำมาซื้อข้าวของที่อยากได้อยากมี แต่เมื่อได้เรียนรู้ในสิ่งที่คุณโจนเป็นได้เห็นในสิ่งที่เขาทำ รู้เลยว่าเราเหมือนกบในกะลา คิดผิดมาตลอด คือ ไปให้ความสำคัญกับค่าของเงิน จนลืมนึกถึงตัวเอง กลับมาก็คุยกับกับสามีและลูกๆ เล่าในสิ่งที่เราได้สัมผัสมา ทุกคนเห็นในทิศทางเดียวกัน เราต้องทำไว้กินเองก่อน เหลือจึงขาย และปีนี้เราเริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์เองด้วย
ขณะที่ คุณชรินทร์ ช่วยประดิษฐ์ ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส สวนสามพราน สะท้อนความรู้สึกให้ฟังหลังจากกลับมาว่า มันใช่เลย คนเราต้องเริ่มจากการพึ่งตนเองให้ได้ก่อน สิ่งที่คุณโจนพูดและทำ สื่อให้เราเข้าใจความหมายชีวิต ว่าทุกอย่างต้องเริ่มจากตัวเอง และเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ จนนำไปสู่ความยั่งยืน กิจกรรมนี้ก็เหมือนจิ๊กซอตัวหนึ่งที่ช่วยต่อเติมภาพให้ชัดเจนขึ้น ซึ่งสะท้อนให้พวกเราเข้าใจในสิ่งที่สวนสามพรานกำลังทำ และทำให้พวกเรามีแรงฮึดที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการสู่ความสำเร็จในอนาคต
ความเข้าใจที่มากขึ้นเท่าทวี ความมุ่งมั่นอยากเปลี่ยนแปลงที่ถูกขับออกมาจากข้างใน ประกอบกับความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ที่มีมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้แสงไฟแห่งความศรัทธาในการทำอินทรีย์ด้วยหัวใจของเครือข่ายลุกโชนมากขึ้น เพื่อพร้อมร่วมกันขับเคลื่อน โครงการสามพรานโมเดล สู่การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ยั่งยืนให้ได้อย่างแท้จริง
อนึ่ง โครงการ สามพรานโมเดล ดำเนินกิจกรรมภายใต้แนวคิด สร้างสังคมเกษตรอินทรีย์ สู่ความยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการขับเคลื่อนของ มูลนิธิสังคมสุขใจด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 5 ปี สำหรับผู้สนใจศึกษาดูงาน หรือทำกิจกรรมร่วมกับโครงการสามพรานโมเดล สามารถสอบถามรายละเอียดต่างๆ ได้ที่ คุณชรินทร์ ช่วยประดิษฐ์ 098-267-2486 หรือ คลิ๊กไปที่Facebook/สามพรานโมเดล