กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--Integrated Promotion Technology
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุดปลื้ม จำนวนยอดรวมผู้เข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2559 ทั้ง 11 วันที่ผ่านมา ทะลุเกิน 1.1 ล้านคนตามที่ได้คาดหมายเอาไว้ ชี้กระแสนวัตกรรมมาแรง นำเศรษฐกิจประเทศสู่ Thailand 4.0 เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดอาชีพในฝัน สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบสนองยุคดิจิตัล
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า จากการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัด "งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559" และ "งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2559" ขึ้น ระหว่างวันที่ 18-28 สิงหาคม ที่ผ่านมา ผลสรุปยอดรวมผู้เข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง 11 วัน ปรากฏว่ามีจำนวนมากถึง 1,102,094 คน โดยเป็นนักเรียนจำนวน 828,572 คน เป็นประชาชนทั่วไปจำนวน 273,522 คน ทั้งนี้ นับว่าการจัดงานประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายเพราะได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ที่มุ่งกระตุ้นความสนใจและสนับสนุนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของเยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยตลอด 11 วันที่ผ่านมา ผู้เข้าชมงานให้ความสนใจกับนิทรรศการต่างๆ ของงาน และเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดแสดงโดยหน่วยงานของกระทรวงวิทย์ฯ ภาคเอกชน ภาครัฐบาลตลอดจนองค์กรต่างประเทศกันอย่างคับคั่ง นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้งานประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก
ดร.พิเชฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่น่ายินดียิ่งไปกว่านั้นคือ มีเยาวชนและประชาชนจากทั่วประเทศกลับมาชมซ้ำอีก และหลายคน บอกว่ามาชมนิทรรศการแล้วได้ความรู้เพิ่มขึ้นและสนุกสนานมาก นั่นเท่ากับว่าเราสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับสังคมไทยในการส่งเสริมให้คนไทยเริ่มสนใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์กันมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเยาวชนให้ความสนใจในเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงอย่างมาก สามารถนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาเหล่านั้นหันมาสนใจอาชีพในฝันด้าน STEM มากยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ตอบสนองยุคดิจิตัล อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไปได้
สำหรับนิทรรศการยอดนิยมที่มีผู้คนสนใจเข้าชมเป็นจำนวนมาก อาทิ นิทรรศการเทิดพระเกียรติ ที่นำเสนอ พระอัจฉริยภาพและคุโณปการทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" และ "พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" ที่ภายในงานผู้เข้าชมยังได้มีโอกาสชื่นชมในเรือใบฝีพระหัตถ์ลำจริงถึง 2 ลำ "เรือซุปเปอร์มด AX7" และ "เรือเวคา 2" ที่ทรงออกแบบและต่อเรือใบพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง โดยในส่วนของเรือเวคา 2 พระองค์ทรงเคยนำเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาแหลมทองครั้งที่ 4 ณ ประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคม 2510 และทรงเป็นผู้ชนะเลิศรางวัลเหรียญทองในการแข่งขันคราวนั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญเรือใบส่วนพระองค์ทั้ง 2 ลำมาจัดแสดงในครั้งนี้ด้วย / นิทรรศการยานยนต์แห่งอนาคตและการขนส่ง ผู้เข้าชมได้ตื่นตาตื่นใจไปกับยานยนต์สมัยใหม่ที่มีระบบการทำงานประสิทธิภาพสูง ทั้งความปลอดภัยและกำลังส่ง รถโฟมสะเทินน้ำสะเทินบก ยานยนต์สำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการในอนาคต รถพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของคนไทย / นิทรรศการนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่มีหุ่นยนต์สีเขียวตัวใหญ่รูปร่างเท่ห์ยืนต้อนรับและดึงดูดสายตาผู้เข้าชมให้เข้ามาเยี่ยมชมถ่ายรูป และเด็กๆ ยังได้ชื่นชมไปกับความน่ารักของหุ่นยนต์นาโอะขวัญใจหนูๆ ที่เสมือนเป็นเพื่อนเล่นหรือสัตว์เลี้ยงตัวน้อยแสนรักของเราได้อีกด้วย / นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้สนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจไปกับ "Mini Space Inspirium" ใน "ห้องเสมือนไร้น้ำหนัก" ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ที่ถูกออกแบบด้วยเทคนิคพิเศษในการหลอกสายตา ทำให้ทุกคนที่เข้าไปอยู่ข้างในห้องดูเหมือนอยู่ในสภาพไร้น้ำหนักเหมือนตนเองกำลังอยู่ในห้วงอวกาศจริงๆ ซึ่งเป็นห้อง Simulator ที่เลียนแบบมาจากห้องฝึกการใช้ชีวิตในอวกาศของมนุษย์อวกาศขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า ทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสภาพไร้น้ำหนัก ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากมายเช่นเดียวกัน / พร้อมกันนี้ ผู้เข้าชมยังได้ท่องระบบสุริยะไปกับ สดร. หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สัมผัสประสบการณ์ดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ของจริงที่นำมาให้เด็กๆ ได้ทดลองกันจริงๆ ในงาน / เพลิดเพลินกับการประกวดแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) / และสนุกสนานไปกับ "นวัตกรรมเนื้อเทียมตกแต่งบาดแผลสมมติ" ของโรงเรียนเสนารักษ์ กรมแพทย์ทหารบก กระทรวงกลาโหม ที่ให้เด็กๆ ได้ทดลองตกแต่งแผลบนใบหน้า ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบกันมากด้วยเช่นกัน
ดร.พิเชฐฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ จะประสบความสำเร็จไปไม่ได้หากขาดกำลังหลักสำคัญอย่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานจัดงานนี้ขึ้นมา ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทีมงานทุกคนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจกันอย่างเต็มที่ รวมทั้ง ต้องขอขอบคุณหน่วยงานร่วมจัดทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการ เป็นที่ประทับใจและชื่นชอบของคนทั่วทั้งประเทศ สมศักดิ์ศรีกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของประเทศและระดับภูมิภาคเอเชีย สำหรับใครที่พลาดชมในปีนี้ คงต้องอีกครั้งในปีหน้า ซึ่งจะมีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่กว่าปีนี้อีกอย่างแน่นอน