กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--Workazine PR
ผู้แทนสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มอบหนังสือให้คณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนำไปปรับปรุงห้องสมุดให้กับโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษา - ที่ประชุมสนับสนุนให้นำระบบ DLIT เสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนทางไกล
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2559 ที่ผ่านมา ที่ห้อง 306 อาคารรัฐสภา 2 ในการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีรองประธาน สนช. คนที่หนึ่ง นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เป็นประธานในการประชุม และนายวิบูลย์ คูหิรัญ ที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมด้วย โดยในการประชุมนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะประธานกรรมการฯ ได้รับมอบหนังสือต่าง ๆ จากคุณเอมอร ตันเถียร อุปนายกสมาคม ผู้แทนสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และส่งต่อให้กับบริษัท รีเทลบิซิเนสโซลูชั่นส์ จำกัด นำไปปรับปรุงห้องสมุดให้กับโรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาฯ โดยนายนพพล ชูกลิ่น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด เป็นผู้รับมอบ โอกาสนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับผู้แทนสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ และบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่น จำกัด ในการร่วมสนับสนุน
ทั้งนี้โครงการกองทุนการศึกษามีโรงเรียนที่ดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการอยู่จำนวน 143 โรงเรียน บางส่วนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นการเรียนการสอนระบบดีแอลทีวี (DLTV) ซึ่งเป็นระบบวันเวย์ (One Way) นักเรียนจะรับฟังการเรียนการสอนทางเดียวไม่สามารถแสดงข้อคิดเห็นหรือตอบคำถามได้ และในขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะกระจายโครงข่ายระบบอินเตอร์เน็ต (Internet) ให้มีครบทุกหมู่บ้าน ซึ่งคณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา มีความสนใจที่จะให้โรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาทั้ง 143 โรงเรียนนี้ นำโครงข่ายระบบอินเตอร์เน็ตที่รัฐบาลกำลังดำเนินการมาใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนทางไกลด้วยระบบการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (Distance learning information technology : DLIT) เพื่อให้นักเรียนสามารถแสดงความเห็นและตอบคำถามผู้สอนเป็นระบบทูเวย์ (Two Way) ได้ โดยจะใช้เป็นโครงการนำร่องต้นแบบ (Pilot project) สำหรับโรงเรียนทั้งหมดในอนาคต ทั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาให้ข้อมูลและปรึกษาหารือพร้อมด้วยตัวแทนจาก สพฐ. ซึ่งก่อนหน้านี้ในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อเดือน ก.ค. 2559 ที่ผ่านมาก็ได้เชิญผู้แทนจาก กสทช. มาปรึกษาหารือกันไปแล้วด้วย โดยขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อคิดเห็นต่าง ๆ ไปพิจารณาความเป็นไปได้และจะนำมารายงานและร่วมกันพิจารณาดำเนินการต่อไป
โดยนายวิบูลย์ คูหิรัญ ซึ่งนอกจากจะเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ก็ยังเป็นที่ปรึกษามูลนิธิโครงการหลวง ได้ให้ความเห็นว่ามูลนิธิโครงการหลวงเองก็มีการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตทางเครือข่ายเคเบิลและทางดาวเทียม IP Star และขณะนี้โครงการหลวงกำลังนำระบบ SAP มาใช้ และระบบนี้ต้องการความเสถียรมากขึ้น จึงได้นำเสนอให้โครงการหลวงประสานกับกระทรวง ICT และ กสทช. ที่จะช่วยสนับสนุนการกระจายโครงข่ายระบบอินเตอร์เน็ตที่จะเข้าไปทุกหมู่บ้าน และให้สามารถบริการโครงการหลวงเพื่อจะช่วยเรื่องความมีเสถียรภาพของระบบของโครงการหลวงด้วย โดยจะมีการพิจารณาร่วมกันต่อไป เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด.