กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--Nanmeebooks
คุณเคยตัดพ้อต่อโชคชะตาบ้างไหม เคยครุ่นคิดว่าทำไมถึงเกิดมาไม่เพียบพร้อมเหมือนคนอื่นบ้างหรือเปล่า ถ้าคุณเคยมีความคิดเหล่านี้ เรามีเรื่องราวการสู้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งมาแนะนำ
เลนา มาเรีย (Lena Maria) เป็นหญิงชาวสวีเดนผู้เกิดมาโดยปราศจากแขนทั้ง 2 ข้าง และมีขาซ้ายยาวเพียงครึ่งหนึ่งของขาขวามาตั้งแต่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ เธอไม่เคยฝันอยากเป็นนักกีฬา นักเขียน นักร้อง หรือศิลปิน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เคยย่อท้อต่อโชคชะตา เลนา มาเรียเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จนได้เป็นนักกีฬาทีมชาติสวีเดน ได้รับเหรียญรางวัลมากมาย ทุกวันนี้เธอร้องเพลงเป็นอาชีพ มีผลงานมาแล้วหลายอัลบัม ได้แก่ My Life, Best Friend หรือ Amazing Grace และเธอยังมีผลงานเขียนออกมาถึง 2 เล่มซึ่งจัดพิมพ์ฉบับภาษาไทยโดย นานมีบุ๊คส์ คือ บันทึกจากปลายเท้า (FOOTNOTES) และ คว้าฝันสุดปลายเท้า (Dare to Dream)
ชีวิตของหญิงหัวใจแกร่งผู้นี้เป็นแรงผลักดันให้แก่ทุกคนที่กำลังท้อแท้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคุณโรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แม็คเคย์ ประธานมูลนิธิ The Rainbow Room กล่าวว่า "สิ่งที่เห็นได้จากชีวิตของเลนา มาเรียคือ การที่เขาเติบโตขึ้นในครอบครัวและสังคมที่ยอมรับความแตกต่าง และเห็นความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา ขณะเดียวกันเลนาก็มีความรักของคุณพ่อคุณแม่เป็นเบาะรองรับอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าตอนอยู่นอกบ้านจะเป็นอย่างไรแต่พอกลับมาที่บ้านก็มั่นใจได้ว่ามีความรักอันเปี่ยมล้นรออยู่ บวกกับความเชื่อและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าจึงทำให้เลนา มาเรียมีทัศนคติในด้านบวก ต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างมีพลัง และยังส่งต่อพลังนั้นแก่ผู้อื่นด้วย"
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการเป็นกำลังใจให้กับเลนา มาเรีย คุณโรสซาลีน่า เผยว่า"คุณพ่อคุณแม่ของเลนามีทัศนคติที่สร้างสรรค์คือ คิดว่าความแตกต่างไม่ได้บอกว่าดีกว่าหรือแย่กว่า ความแตกต่างก็คือความแตกต่างเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการที่เราช่วยให้ลูกได้มีส่วนร่วมในสังคมให้มากที่สุด และอำนวยความสะดวกให้เขามากที่สุด เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีศักยภาพนับเป็นเรื่องสำคัญมาก"
เรื่องราวชีวิตของเลนา มาเรีย ถือเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดี แม้จะเกิดมาไม่ครบกาย แต่เธอก็มีความมั่นใจ พลังใจ และสติปัญญาที่จะหาแรงบันดาลใจจากสิ่งต่างๆ หรือประสบการณ์รอบตัว เวลาเจอปัญหา สิ่งที่เลนา มาเรียคิดก็คือ เหตุการณ์นี้สอนอะไรให้เธอบ้าง
ทั้งนี้ คุณโรสซาลีน่า อเล็กซานเดอร์ แม็คเคย์ ยังเผยถึงความประทับใจเมื่ออ่านหนังสือ "บันทึกจากปลายเท้า" จบว่า "รู้สึกประทับใจมากตอนที่เลนาพูดถึงคุณพ่อคุณแม่ว่า ท่านมองดูฉันในฐานะลูกสาวที่บังเอิญเกิดมาพิการ ไม่ใช่เด็กพิการที่บังเอิญเกิดมาเป็นลูกสาวของท่าน สิ่งนี้เป็นทัศนคติที่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย หลายครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ชาวไทยที่มีลูกผู้แตกต่าง จะเห็นว่าพวกเขามีความทุกข์มาก พร้อมมีคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าเพราะอะไร ซึ่งทัศนคติแบบนี้เมื่อเทียบกับมุมมองความคิดของคุณพ่อคุณแม่ของเลนาจะเห็นว่าเขาผ่านจุดนั้นไปแล้ว คือเขาเลิกตั้งคำถามว่าทำไม แต่คิดว่าจะหาทางช่วยลูกให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพได้อย่างไร มีอะไรที่ช่วยได้บ้าง และอีกอย่างที่ชอบมากคือ คุณพ่อคุณแม่ของเลนาจะเลี้ยงลูกเหมือนเด็กทั่วไปเสมอ นี่คือประตูที่ทำให้เลนา มาเรียใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนคนทั่วไป"
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวไว้ในตอนหนึ่งของคำนิยมว่า "ผู้อ่านจะได้รับรู้ความจริงว่าชีวิตของเลนาต้องใช้ความพยายามอย่างสูง รวมถึงกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะครอบครัวซึ่งเป็นแรงขับให้เธอใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายไม่แตกต่างจากพวกเราที่มีทุกอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เธอมีพลังในการค้นหาตัวตนและพรสวรรค์ของเธออยู่เสมอ สนุกกับการท่องโลกกว้าง พบปะผู้คนมากมายโดยไม่ปิดขังตัวเองอยู่กับโชคชะตาที่เกิดมาแตกต่างจากคนอื่นๆ ทั้งนี้การคิดแบบบวกหรือ positive thinking ยังทำให้เธอรู้สึกรักและมีความสุขกับชีวิต ชีวิตเธอเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าคนเราเกิดมาแล้วได้ทำหน้าที่ของตนเองตามบทบาทและความถนัดนั้นน่าจะสำคัญกว่าการมองหาสิทธิ์ที่เราควรจะได้รับ เธอเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้อยากใช้สิทธิ์ของผู้พิการ แต่ตรงกันข้ามกลับทำหน้าที่ช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ทุกข์ร้อนบนโลกใบนี้"
ในเมื่อชีวิตไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสมอ ยามใดที่อุปสรรคแตะมือกันเข้ามาทักทายจนแทบไม่ได้หายใจ ขอจงอย่าท้อถอย ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง แล้วทำสิ่งเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่เพื่อสร้างสรรค์ให้โลกใบนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น